**สนองพระราชปณิธาน ”สมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 9”
“กระจูด” ชื่อนี้หลายคนอาจจะไม่คุ้นชินนัก แต่สำหรับคนในพื้นที่ภาคใต้แล้วส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้จักดี
เป็นพืชตระกูลเดียวกับ “กก” เป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตง่าย และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว พบมากในแถบพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ของไทย
โดยเฉพาะในที่ ๆ มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา และบริเวณริมทะเลสาบที่เป็นดินโคลนที่เรียกว่า “พรุ” หรือชาวพื้นเมืองภาคใต้เรียกว่า “โพระ”
“กระจูด” แพร่พันธุ์มากในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบกับลำต้นคล้ายกับ “กก” ด้วยเหตุนี้เองชาวบ้านจึงนิยมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสื่อกระจูดไว้ใช้สอยกันเองในครัวเรือน โดยเมื่อพ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศ และได้ทรงลงพื้นที่เยี่ยมราษฎร
ชาวบ้านได้นำเสื่อกระจูดที่ทอกันเองมาวางเป็นลาดพระบาท สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็น และอยากซื้อเสื่อกระจูด ทรงตรัสถามชาวบ้านว่า มีกี่รูปแบบ และมีสีสันที่สวยงามกว่านี่หรือไม่ ซึ่งก็พบว่าไม่มีชาวบ้านคนใดที่ผลิตได้สวยงามไปกว่านี้แล้ว
จึงทรงมีรับสั่งให้โครงการในพระราชดำริได้เข้ามาช่วยส่งเสริมอาชีพการทำผลิตภัณฑ์กระจูดให้กับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่มีงานทำ มีรายได้ที่ดี ทั้งเป็นการรักษาศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานไปทำงานนอกพื้นที่ ที่สำคัญจะได้สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน”
ว่าที่ ร.ท.ดิลก ศิริวัลลภ กรรมการสภาวิทยาลัยชุมชน (วชช.) นราธิวาส เล่าถึงที่มาที่ไปและภาพความประทับใจที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีต่อพสกนิกรเรื่องผลิตภัณฑ์จากกระจูด
“นับตั้งแต่พ.ศ.2517 ที่โครงการในพระราชดำริ และให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาส่งเสริมการจัดทำผลิตภัณฑ์จากกระจูดให้ชาวบ้าน ต้องยอมรับว่าแต่ละครอบครัวมีรายได้ มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะสามารถผลิตสินค้าจากกระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบสีสันสวยงาม จากเดิมที่ผลิตได้เพียงแค่เสื่อเท่านั้น
ที่สำคัญโครงการในพระราชดำริยังรับซื้อ หาแหล่งจำหน่ายให้ด้วย และเพื่อให้ผลิตภัณฑ์กระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมี่ยมของนราธิวาส วชช.นราธิวาส จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เข้ามาช่วยต่อยอดให้การผลิตผลิตภัณฑ์จากกระจูดสมบูรณ์มากขึ้น โดยนำหลักวิชาการเข้ามาช่วยส่งเสริมเรื่องนี้ให้กับชาวบ้านอย่างเป็นระบบแบบแผน
ตั้งแต่ศึกษาวิจัยหาข้อมูลความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ จัดบุคลากรสอนชาวบ้านให้รู้ว่าจะตัดกระจูดอย่างไรไม่ให้เสียหาย หลังตัดแล้วก็ต้องอนุรักษ์ด้วยการปลูกทดแทน สอนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากกว่า 10 ชนิด ทั้งเสื่อพับ กระเป๋า ที่นอน หรือสัตว์ชนิดต่าง ๆ เป็นต้น…
…ทุกส่วนของกระจูดจะนำมาใช้ประโยชน์ไม่ทิ้งให้เสียเปล่า รวมทั้งสอนเรื่องการตลาด จัดจำหน่ายผ่านโซเชียลมีเดียด้วย ที่น่าดีใจไปกว่านั้นยังส่งเสริมให้จัดตั้งธนาคารกระจูดขึ้น หากชาวบ้านคนใดขาดแคลนวัตถุดิบสามารถเข้ามาหยิบยืมไปผลิตได้ก่อนแล้วค่อยนำมาคืนในภายหลังได้ด้วย
ทุกวันนี้ชาวบ้านยอมรับว่า วชช.นราธิวาส เข้ามาส่งเสริมเรื่องนี้ให้กับชาวบ้านอย่างเป็นระบบที่สุด เป็นการสนองงานใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เปลี่ยนกระจูดให้เป็นเงิน เป็นทองให้กับชาวบ้านได้อย่างยั่งยืนแท้จริง”
นายยุทธนา พรมหณี ผู้อำนวยการ วชช.นราธิวาส ได้เล่าถึงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากกระจูดให้กับชาวบ้าน ว่า ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์กระจูดของชุมชนในจ.นราธิวาส ยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย เนื่องจากรูปแบบผลิตภัณฑ์ยังไม่ตรงความต้องการของตลาด
วชช.นราธิวาส จึงจัดทำโครงการอบรมหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์กระจูดโดยใช้ชื่อสินค้าว่า “กระจูดนารา” เป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ให้ชุมชน และให้ความรู้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ พัฒนาทักษะผลิตภัณฑ์ ตั้งเป้าให้สามารถจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งสามารถดำเนินการได้เองภายใต้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน
นอกจากนี้ ยังได้วางแผนอนุรักษ์ต้นกระจูดที่ตอนนี้มีอยู่น้อยให้มีมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างเป็นพื้นที่อนุรักษ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนด้วย
ด้านนางอุไรวรรณ ดวงเต็ม ประธานกลุ่มกระจูดนารา ทุเรียนนก กล่าวว่า ต้องขอบคุณ วชช.นราธิวาสที่จัดกิจกรรมดี ๆ นี้ขึ้นมา และนำตัวแทนกลุ่มกระจูดนารา ไปดูงานที่พัทลุง ได้เรียนรู้กระบวนการย้อมสีกระจูด การจัดทรงกระเป๋า เคลือบเงา ใส่หูกระเป๋า ใส่ซับในกระเป๋าและทำตลาด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์กระจูดนาราทันสมัย ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย ของฝากที่ถูกใจทุกคน ตามสโลแกนกลุ่มที่ว่า “คิดถึงกระจูดคิดถึงนารา”
นอกจากนี้ วชช.นราธิวาส ยังเปิดโอกาสให้คนที่สนใจเข้ามาศึกษากระบวนการผลิตเพื่ออนุรักษ์ผลิตภัณฑ์กระจูดให้อยู่คู่คนนราด้วย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ