อาจารย์ มรภ.สงขลา ใช้ “อาชาบำบัด” เสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มออทิสติก เผยงานวิจัยชี้ช่วยลดอาการวอกแวก เพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ พร้อมดึงสัมผัสธรรมชาติสายลม เสียงคลื่นหาดสมิหลา กระตุ้นความสนใจ
ผศ.ณัฐรินทร์ แซ่จุง ประธานโปรแกรมวิชาการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เผยถึงโครงการอาชาริมหาด สำหรับเด็กกลุ่มอาการออทิสติก เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านความรู้สึกและการรับรู้เข้าใจ ด้านการเข้าสังคมและสุขภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ปกครองและเด็กกลุ่มอาการออทิสติก ช่วงอายุ 3-5 ปี ที่เข้ารับบริการ ณ หน่วยบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว สถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา ซึ่งการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ นอกจากจะฝึกพัฒนาการและรักษาด้วยยาแล้ว การบำบัดด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็สามารถช่วยให้เด็กได้รับการกระตุ้นพัฒนาการให้ดีขึ้นได้ โดยการบำบัดอย่างหนึ่ง ที่กำลังเป็นที่น่าสนใจ คือ การบำบัดด้วยสัตว์ ซึ่งช่วยในการรับรู้สัมผัส เสริมสร้างสมาธิ ให้สัมผัสที่อบอุ่น ปลอดภัย และเป็นมิตร เพิ่มแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
ผศ.ณัฐรินทร์ กล่าวต่อไปว่า สงขลาเป็นจังหวัดที่ไม่มีศูนย์ทหารม้าที่รับบำบัดเด็กกลุ่มนี้ หากต้องการบำบัดรักษา หรือกระตุ้นพัฒนาการโดยใช้อาชาบำบัด อย่างเต็มรูปแบบ ผู้ปกครองจะต้องเดินทางไปถึงจังหวัดปัตตานี เกือบใต้สุดแดนสยาม ทำให้การเดินทางไม่สะดวก และอาจไม่สามารถพาไปได้อย่างต่อเนื่อง
…แต่สงขลา มีลักษณะภูมิประเทศที่มีพื้นที่ติดทะเล มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ คือหาดสมิหลา มหาวิทยาลัย จึงคิดโครงการอาชาริมหาด หรือการขี่ม้าริมชายหาด เด็กได้ชี้ชวนกันดูน้ำ ได้ยินเสียงคลื่นกระทบฝั่ง สัมผัสสายลมที่พัดผ่านกาย ช่วยให้ผ่อนคลาย ประกอบกับหน่วยงานรัฐสนับสนุนให้มีกิจกรรมขี่ม้าไว้บริการ เพื่อนำนักท่องเที่ยวชมวิวทิวทัศน์อันสวยงาม จึงเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการให้ผู้ปกครองเข้าถึงการกระตุ้นพัฒนาการ และการช่วยเหลือเด็กกลุ่มอาการออทิสติกได้สะดวกและง่ายขึ้น
“การใช้อาชาบำบัด เป็นการดึงเด็กออกมาสัมผัสและรับรู้โลกภายนอก โดยมีสัตว์เป็นเสมือนสื่อกลางที่นอกจากจะพาเขาโลดแล่นไปมาแล้ว ยังช่วยเชื่อมโยงก่อเกิดความสัมพันธ์กับคนอื่น เรียนรู้ที่จะสื่อสารกับโลกภายนอกมากขึ้น”
ทั้งนี้ งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า การใช้ม้าในการบำบัดเด็กกลุ่มอาการออทิสติก ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสังคมดีขึ้น มีการรับรู้และไวต่อการสัมผัส ลดอาการวอกแวกง่าย การแยกตัว และช่วยเพิ่มความเข้าใจทางอารมณ์ อีกทั้งยังมีแนวคิดใหม่ว่า การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีราคาแพงไม่สามารถรักษาโรค หรืออาการทุกอย่างได้ และไม่สามารถทำให้มนุษย์มีสุขภาพที่ดีได้ จึงหันมาสนใจ “ศาสตร์ธรรมชาติ” เช่น ดิน น้ำ ลม และแร่ธาตุต่างๆ เช่นวิธีการรับลมที่พัดโบกตามธรรมชาติ
ผศ.ณัฐรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า ทางโปรแกรม วางแผนไว้ว่าอยากจะทำวิจัยให้เด็กพิเศษประเภทอื่นๆ ด้วยเพื่อให้พวกเขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น เพราะจริงๆ แล้วเด็กออทิส ติกมีศักยภาพและไอคิวสูงมาก หากเราได้ช่วยแต่เนิ่นๆ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง จะช่วยให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ที่สำคัญต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองเป็นสำคัญ
แม้จะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่ทางโปรแกรมฯ ก็หวังว่าในอนาคตมีการสนับสนุนมากขึ้น เพื่อขยายผลไปยังเด็กพิเศษกลุ่มอื่นๆ ได้รับการช่วยเหลือดูแลด้วยเช่นกัน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ