แกนนำครูหนี้สินวิกฤติ เคลื่อนไหวเข้ม นัดพบปะเครือข่ายครูโคราช นัดยื่นหนังสือให้ บิ๊กตู่ นายกรัฐมนตรี ยกระดับเป็นวาระหนี้สินแห่งชาติ อานิสงส์ครอบคลุมข้าราชการทุกภาคส่วน
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 กรกฎาคม นายสมคิด หอมเนตร ประธานเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านคอรัปชั่น พร้อมพวกได้นัดพบปะแกนนำเครือข่ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนการช่วยเหลือครูที่ได้รับผลกระทบจากหนี้วิกฤต
นายสมคิด ฯ เปิดเผยว่า หลังประสานกับเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสำแดงพลังและประกาศจุดยืน “ ปฏิญญาโคราช ” ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) แต่ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง ร้องขอให้งดทำกิจกรรมดังกล่าว โดยอ้างหมิ่นเหม่กับข้อบังคับกฎหมาย ทำให้เพื่อนครูต้องรีบแยกย้ายเดินทางกลับทันที ตนและพวกซึ่งเป็นแกนนำ ฯ จึงนัดพูดคุยและขอคำชี้แนะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน สังคมได้วิพากษ์ วิจารณ์ “ ปฏิญญามหาสารคาม ” ในทางลบ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ครูทั่วประเทศ จึงให้แกนนำลงพื้นที่ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ ครูไม่ต้องการให้รัฐบาลยกหนี้สินให้โดยไม่ชำระคืน ข้อเท็จจริงเป็นการสื่อสารถึงรัฐบาลให้ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ครูทั้งระบบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมยื่นหนังสือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณายกระดับปัญหาหนี้สินครูให้เป็นวาระหนี้แห่งชาติ โดยรวบหนี้สิน ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลาการส่งชำระหนี้และตั้งกองทุนสนับสนุนพิเศษ เพื่อความมั่นคง ช.พ.ค. ใช้งบประมาณจากกองทุนมาเยียวยาช่วยเหลือครู อานิสงส์จะครอบคลุมทั้งระบบและข้าราชการทุกภาคส่วน
นายสมคิด ฯ ชี้แจงปัญหาหนี้ ชพค. เกิดจากการทุจริตเชิงนโยบาย การใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) ครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาเป็นเครื่องมือ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. ธนาคารออมสิน และบริษัท พิทยประกันภัย จำกัด ร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จากนั้นก็คลอดโครงการ โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) 5 -7 จูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยอัตราต่ำ ข้าราชการครูกว่า485,000 ราย ได้ขอกู้เงิน รวมมูลค่าหนี้สิน 1.1 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดปัญหาภาวะหนี้สินวิกฤต เงินเดือนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีข้าราชครูบำนาญ 5 ราย และครูผู้สอน 1 ราย รวม 6 ราย มีหนี้สินเฉลี่ยรายละ 5 ล้านบาท บางรายกว่า 8 ล้านบาท กำลังถูกฝ่ายกฎหมายของธนาคารออมสิน นำคดีความเข้าสู่ศาลล้มละลายกลาง หากไม่ได้รับการช่วยเหลือต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลาย จะส่งผลกระทบทั้งลูกหนี้และครอบครัวรวมทั้งผู้ค้ำประกันด้วย นายสมคิด ฯ กล่าว
ด้านนายเสน่ห์ สุขนาคินทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนหม่อน อ.เมือง จ.นครราชสีมา กล่าวว่าจากการติดตามข้อมูล พบข้าราชการครูจำนวนมาก มีสภาวะหนี้สินขั้นวิกฤต โดยเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินหลายแห่ง รวมยอดหนี้กว่า 1 ล้านบาท และมีหนี้นอกระบบอีก หากรวมทั้งประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล ธนาคารออมสินก็ทำได้เพียงรับผิดชอบแก้ไขในหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับธนาคารโดยตรงเท่านั้น ส่วนหนี้สินจากสถาบันอื่นๆ ไม่สามารถช่วยเหลือได้ รัฐบาลต้องใช้อำนาจและงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือนำปัญหาหนี้สินครูเป็นวาระแห่งชาติเท่านั้น โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อรวบรวมหนี้สินทั้งหมดมาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ครูมีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพและสามารถชำระหนี้สินได้โดยไม่เดือดร้อน อย่างไรก็ตามสังคมต้องเข้าใจครูส่วนใหญ่มีลูกชาวบ้าน มีพื้นฐานชีวิตโดยสร้างหลักปักฐานด้วยตัวเอง เป็นธรรมชาติที่ทุกคนต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน จึงต้องกู้เงิน มีส่วนน้อยไปลงทุนการค้า ฝากถึงเพื่อนครู หากโชคดีรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือต้องมีวินัยการใช้หนี้และลดกิเลสด้วย อย่าแอบไปกู้เงินอีก มิเช่นนั้นเทวดาก็ช่วยไม่ได้
นายสมจิตร ณ สูงเนิน ข้าราชครูบำนาญ กล่าวว่า กว่า 7 ปี ตนไม่เคยได้ใช้เงินบำนาญเดือนละ 3 หมื่นบาท แม้นแต่บาทเดียว เนื่องจากถูกหัก ณ ที่จ่าย ทั้งหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา 1.2 ล้านบาท และ หนี้ ชพค. 1.5 ล้านบาท ตนอยู่ได้โดยเปิดร้านขายของชำและส่งหนังสือ อุปกรณ์การเรียน การสอนให้กับโรงเรียนประถมและปรับการดำเนินชีวิตโดยวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มแรกกู้เงิน ชพค. คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 จู่ๆ ปรับขึ้นมา 8 บาท ทำให้สมาชิก ชพค. ต้องออกมาเคลื่อนไหวให้ลดอัตราดอกเบี้ยและขยายเวลาชำระหนี้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ