อาชีวะเทียนจินส่งมอบศูนย์การเรียนรู้ระบบราง หวังไทยเป็นฮับรถไฟฟ้าความเร็วสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟเทียนจิน ก่อตั้งเมื่อปี 2494 ตั้งอยู่ในมหานครเทียนจิน มีสาขาวิชาการขนส่งทางรถไฟ ทั้งสิ้น 30 สาขา วิทยาลัยแห่งนี้ช่วยเพิ่มฐานการฝึกอบรมทั้งภายในและภายนอกวิทยาลัยมีครู อาจารย์ 488 คน มีนักศึกษาในระบบมากกว่า 8,000 คน ในวิทยาลัยมีบุคลากรซึ่งได้รับการฝึกอบรมและประเมินทักษะแล้วรวมทั้งสิ้น 15,000 คนต่อปี ในปี 2557 ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ และวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีนักเรียนอาชีวะไทย 24 คน ที่เรียนวิชารถไฟฟ้าความเร็วสูง
ในปี 2561 ได้เปิดศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมลูปัน และจัดตั้งอีกสองสาขาวิชา คือ การบริหารการเดินรถไฟความเร็วสูงและเทคโนโลยีวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง โครงการนี้มุ่งสนองความต้องการของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในการก่อสร้างและบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้
ดร.สุเทพ กล่าวต่อไปว่า พิธีมอบศูนย์การเรียนรู้ระบบขนส่งทางรางรถไฟฟ้าความเร็วสูงในครั้งนี้จึงเป็นการรองรับการก่อสร้างทางรถไฟของประเทศไทยและริเริ่มโครงการเส้นทางสายไหมวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาถือเป็นพันธมิตรที่ดีของศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมลูปัน ในอนาคตวิทยาลัยในสังกัด สอศ. จะเป็นเครือข่ายสำคัญทางการศึกษาเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงซึ่งครอบคลุมในประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ทั้งนี้ วิทยาลัยที่เปิดสอนระบบขนส่งทางราง ลงนามความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟเทียนจิน ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคเกาะคา วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ วิทยาลัยเทคนิควาปีปทุม วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยาและวิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ