คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา บูรณาการ 8 หลักสูตรเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนเกาะยอ สนองพระบรมราโชบาย รัชกาลที่ 10 จับมือท้องถิ่นสร้างจุดขายทรัพยากรพื้นที่หลากหลาย-แหล่งรวมปราชญ์ชาวบ้าน พร้อมปั้นมัคคุเทศก์น้อย
ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ชุมชนเกาะยอ จ.สงขลา เป็นพื้นที่หนึ่งที่คณะมนุษยศาสตร์ฯ มีโครงการความร่วมมือการบริการวิชาการ จึงทำให้ทราบถึงศักยภาพของชุมชนที่มีความโดดเด่นเชิงวัฒนธรรม ทั้งด้านกายภาพที่มีพื้นที่เป็นเกาะอยู่ในทะเลสาบสงขลา และความหลากหลายด้านทรัพยากร ทั้งพืชพรรณประจำถิ่นและสัตว์น้ำ ตลอดจนวิถีชีวิต ศิลปหัตถกรรม ประเพณี มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ซึ่งจากการลงพื้นที่เพื่อร่วมกับชุมชน ทำให้พบว่าการจัดการท่องเที่ยวเกาะยอ มีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าศักยภาพที่ชุมชนมีอยู่ และชุมชนแสดงความจำนงที่จะร่วมมือบริหารจัดการและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างความยั่งยืน โดยทางคณะได้จัดทำแผนงานวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการและการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีไทย “ชุมชนเกาะยอ” ยั่งยืน ภายใต้งานวิจัย 6 โครงการ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน
ผศ.นาถนเรศ อธิบายถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยแท้จริงแล้ว คือ ชุมชนผู้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว เป็นผู้เสนอความงดงามทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น สู่ผู้ท่องเที่ยวภายนอก โดยความคาดหวังของการจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ก็หมายถึงการที่ชุมชนผู้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว มีบทบาทต่อการบริหารจัดการ และทำนุบำรุงคงคุณค่าแห่งความงดงามเอาไว้ให้ยั่งยืน โดยความเข้าใจและมีจิตสำนึกถึงความเป็นเจ้าของ
รวมทั้งมีสิทธิ์กำหนดแนวทางการพัฒนาด้วย บทบาทจากชุมชน ก็เปรียบเสมือนเครื่องรับประกันความยั่งยืนของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เพราะแหล่งท่องเที่ยวไม่อาจดำรงอยู่ได้หากขาดผู้ที่เป็นเจ้าของที่ถือว่าอยู่ใกล้ชิด และมีความเข้าใจวัฒนธรรมตนเอง ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างนักท่องเที่ยว และองค์กรที่เกี่ยวข้องภายนอกเข้ามามีความเกี่ยวพันกับระบบการบริหารจัดการ และวงจรการท่องเที่ยวในชุมชนทั้งหมด
ด้าน ดร.รัชชพงษ์ ชัชวาลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวว่า ทุกครั้งที่ลงพื้นที่เกาะยอ ก็สามารถสัมผัสได้ถึงศักยภาพของชุมชน โดยเฉพาะ”ปราชญ์ชาวบ้าน” เมื่อไปบ่อยครั้งเข้าก็เกิดเป็นความไว้ใจจากชุมชนซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ แม้ที่ผ่านมาจะมีการทำวิจัยในพื้นที่เกาะยอมาแล้วบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นวิจัยเฉพาะเรื่อง ซึ่งอาจไม่เห็นผล หรือไม่ต่อเนื่อง จึงนำมาสู่แนวคิดการดำเนินงานแบบชุดโครงการ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)เกาะยอ
สำหรับโครงการย่อยประกอบด้วย 1. ศึกษาองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นที่ชุมชนเกาะยอ โดยวิจัยร่วมกับปราชญ์ชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ไม่ผิดเพี้ยน 2. สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ให้ออกมาในลักษณะของแผนที่ท่องเที่ยว 3. ศึกษาทุนทางสังคมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นการทำงานพัฒนาท้องถิ่นสนองพระบรมราโชบายรัชกาลที่ 10
โครงการที่ 4.ศึกษาสารสนเทศชุมชน เพื่อพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยเน้นกิจกรรมกระจายออกไปในแต่ละจุดของเกาะยอ เนื่องจากที่ผ่านมานักท่องเที่ยวอาจเกิดความสับสนในการเลือกสถานที่ เช่น หากมีเวลาจำกัดจะสามารถไปเที่ยวที่ไหนได้บ้าง ใน 3ช่วงเวลาที่จัดเตรียมไว้ให้เลือก คือ 1- 3 และ 6ชั่วโมง ในแต่ละช่วงเวลา จะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และสอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว 5.รูปแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีไทยชุมชนเกาะยอ และ 6.การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมภาษาอังกฤษสำหรับมัคคุเทศก์น้อย โดยร่วมกับโรงเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้เด็กรักและหวงแหนชุมชนควบคู่ไปกับเพิ่มทักษะทางภาษา เนื่องจากในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ เดินทางมาท่องเที่ยวที่เกาะยอ โดยเฉพาะที่วัดแหลมพ้อ เป็นจำนวนมาก
“การลงพื้นที่ครั้งนี้ เรานำทั้ง 8 หลักสูตรของคณะมนุษยศาสตร์ฯ ได้แก่ สังคมศาสตร์เพื่อมัคคุเทศก์และการท่องเที่ยว รัฐประศาสนศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ การพัฒนาชุมชน ภาษาอังกฤษเพื่องานบริการ ภูมิสารสนเทศ และสวัสดิการสังคม เข้าไปบูรณาการ เช่น ภูมิสารสนเทศทำแผนที่ท่องเที่ยว สังคมศาสตร์เพื่อมัคคุเทศก์ฯ ทำเรื่องประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เป็นต้น …ทั้งนี้ เราและชุมชนมีความคาดหวังว่าภายใน 1 ปี จะเห็นความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง จึงวางแผนไว้ว่าหลังจากนี้ภายใน 3 ปี อาจพัฒนาในมิติอื่นๆ ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น ดึงคณะวิทยาการจัดการ มาช่วยดูแลการทำตลาด, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะเทคโนโลยีการเกษตร มาร่วมจัยเรื่องรสชาติ และคุณค่าทางอาหารของปลากะพง ซึ่งเป็นปลาที่มีชื่อเสียงของเกาะยอ โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว
…แม้งบประมาณที่ได้จากมหาวิทยาลัย ในการจัดทำโครงการจะไม่มาก เมื่อเทียบกับงานที่เราตั้งใจทำ แต่นักวิจัยทุกคน ต่างก็ทุ่มเทและลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ก็เพื่อความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม”ดร.รัชชพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ