กอปศ.ถกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ เร่งผลักดันให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้คำมั่นจะไม่ทิ้งเด็กพิเศษไว้ข้างหลัง
ศ.เกียรติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังประชุม กอปศ.ว่า ที่ประชุมได้หารือร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.(…) ที่เป็นภารกิจสำคัญของ กอปศ.ที่ต้องดำเนินการ แปลสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งจะมีหลายขั้นตอน และขั้นตอนที่จะเกิดขึ้น คือร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สภาการศึกษาทำหน้าที่เลขานุการ ทำหน้าที่ดูแลการศึกษาเชิงมหภาค ทำการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data) การศึกษา ที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับนี้ ส่วนประเด็นอื่น ๆ ก็กำหนดสอดคล้องตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการจัดการศึกษามากขึ้น แต่รัฐก็ยังมีหน้าที่จัดการศึกษาแก่ทุกคน, กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) มีหน้าที่จัดการศึกษาและส่งเสริมการศึกษาในท้องถิ่นตนเอง
ศ.เกียรติคุณ นพ.จรัส กล่าวต่อไปว่า ส่วนการปรับโครงสร้างองค์กรในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ไม่ได้กำหนดรายละเอียด แต่ในหลักการอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อาจจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นกลไกที่ใหญ่ขึ้น เพราะต้องรองรับจำนวนคนนอกระบบการศึกษา ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ครอบคลุมการจัดการศึกษาตลอดชีวิต เป็นต้น ทั้งนี้ การยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ บางเรื่องยังอ้างอิงกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แต่เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงบางเรื่องก็จำเป็นต้องยกร่างและต้องไปดูกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.2561 นี้ จะนำร่าง พ.ร.บ.ไปประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นจากเครือข่ายเยาวชนทุกระดับและประเภทการศึกษา และในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ จะจัดประชุมร่วมกับสมัชชาการศึกษาถึงความคาดหวังในการปฏิรูปการศึกษาด้วย
ส่วนการดูแลเด็กด้อยโอกาสและพิการนั้น ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คือการเห็นความจำเป็นของคนกลุ่มน้อย ยากจน พิการทางกาย พิการทางจิต เรียนช้า รวมถึงคนที่มีความสามารถพิเศษที่สามารถเรียนได้เร็ว ซึ่งเรื่องนี้จะต้องดูแลแยกแต่ละส่วน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เรายังไม่ได้พูดถึงมากนัก เพราะมีข้อกำหนดหลายมาตราที่จะต้องดูแลเด็กกลุ่มดังกล่าว ต้องไปแปลเพื่อนำมาเขียนไว้ในธรรมนูญการศึกษา ว่าจะมีกลไกและกฎหมายอะไรมารองรับ และจะเน้นเรื่องใดบ้าง ซึ่งเราก็ให้ความสำคัญเด็กกลุ่มนี้ด้วย
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่จะนำไปรับฟังความคิดเห็นมีทั้งสิ้น 7 หมวด 83 มาตรา ซึ่งต่างจากพ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับเดิม ดังนี้ 1.หมวดหน้าที่ของรัฐด้านการศึกษา 2.หมวดสิทธิและหน้าที่ 3.การจัดการศึกษา 4.ครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาและกิจกรรมการเรียนรู้ 5.การพัฒนาและกำกับดูแลระบบการศึกษา 6.แผนการศึกษาแห่งชาติและทรัพยากรการศึกษาและการเรียนรู้ และ 7.คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหมวดใหม่ที่จะมากำหนดระบบจัดการศึกษาที่จะออกมาในอนาคต
ส่วนประเด็นอำนาจหน้าที่ของ อปท.จะชัดเจนขึ้น โดยให้มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ สนับสนุนงบประมาณ จัดบริการทางการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของรัฐและเอกชนได้ พัฒนาแหล่งศึกษาเรียนรู้การศึกษาตามอัธยาศัยที่หลากหลายได้ ซึ่งที่ผ่านมาในเรื่องงบประไม่ได้กำหนดชัดเจน การทำงานจึงก้ำกึ่งว่าทำได้หรือไม่ได้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ