จากรณีที่คณะกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.) เสนอให้นพ.ธีระเกีรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ใช้อำนาจหัวหน้าคสช.ตามมาตรา44 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2567 เพื่อแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ตามคำสั่ง 39/2559 กับ มหาวิยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ล้านนานั้น
ดร.ภาสวรรธน์ วัชรดำรงศักดิ์ รองอธิการบดี มทร.ล้านนา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า จากการตรวจสอบคลิปให้สัมภาษณ์ของรมว.ศึกษาธิการ พบว่าสาระในคลิปกับข้อความที่เป็นข่าวนั้น แต่ภายหลังการเผยแพร่ข่าว ได้มีบุคลากรในมหาวิทยาลัย ส่งข่าวสารต่อๆกันในกลุ่มไลน์อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง มีการแสดงความคิดเห็นตามทัศนะของแต่ละคน นำไปสู่ความเห็นแย้งกันไปมา ดูเหมือนความเห็นต่างได้แยกเป็นคนละพวกอย่างชัดเจน ดังนั้น จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ควรทบทวนถึงผลกระทบของการใช้ ม.44 กับสถาบันอุดมศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลว่าได้ผลตามความต้องการของคำสั่ง คสช.หรือไม่ และให้ประเมินมหาวิทยาลัยที่เคยใช้ ม.44 ไปแล้ว ว่ามีผลในการแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ หรือทำให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยเกิดความแตกแยก ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยตกต่ำไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน เพราะแค่ รัฐมนตรีพูดเป็นข่าวถึงการใช้ ม.44 บุคลากรในมหาวิทยาลัยก็แตกแยกวุ่นวายกันแล้ว
ส่วนกรณีที่รมว.ศึกษาธิการ ระบุว่านายกสภา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ลาออกจำนวน 6 ท่าน ทำให้สภามหาวิทยาลัยเกิดสุญญากาศนั้น ดร.ภาสวรรธน์ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พ.ศ. 2548 มาตรา 15 วรรค 2 “ให้สภามหาวิทยาลัยเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิคนหนึ่งเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยเมื่อนายกสภามหาวิทยาลัยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้หรือเมื่อไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย” และ มาตรา 16 วรรค 3 “ในกรณีที่ตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังมิได้ดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยแทนตำแหน่งที่ว่างให้สภามหาวิทยาลัยประกอบด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยเท่าที่มีอยู่” โดยจะเห็นได้ว่า สภามหาวิทยาลัยไม่มีโอกาสเกิดสุญญากาศแน่นอน และยังสามารถอาศัยกลไกตาม พรบ.ของมหาวิทยาลัย ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ม.44 กับมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ดร.ภาสวรรธน์ ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้ มทร.ล้านนา ได้กลายเป็นคู่กรณีกับ สกอ. เพราะ สกอ.ได้กระทำการที่ทำให้ รกท.อธิการบดี และ มทร.ล้านนา ได้รับความเสียหาย ซึ่งขณะนี้ มีการมอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้องศาลอาญาทุจริตฯ โดยก่อนหน้านี้ รกท.อธิการบดีได้ฟ้องนายกสภา มทร.ล้านนา ต่อศาลอาญาทุจริตฯแล้ว มีการพิจารณารับคำฟ้องและมีการดำเนินการอยู่ ดังนั้น เมื่อ มทร.ล้านนา กับ สกอ. กลายเป็นคู่กรณีกัน แต่ เลขาธิการ สกอ.และ รองเลขาธิการ สกอ.ยังมีบทบาทในฐานะเป็นรองประธาน และเลขาฯคณะอนุกรรมการฯ ตามลำดับ ที่ได้รับมอบหมายจาก กกอ.เป็นผู้สอบหาข้อเท็จจริงนำเสนอต่อ กกอ. เพื่อพิจารณาใช้ ม.44 นั้น ทำให้ทาง มทร.ล้านนา ไม่แน่ใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ เพราะไม่มีสิทธิค้านข้อมูลที่คณะอนุกรรมการฯเสนอต่อ กกอ.ได้เลย และ กกอ.ก็จะไม่รู้ว่าข้อมูลที่คณะอนุกรรมการฯเสนอประกอบการพิจารณาเป็นข้อมูลเท็จหรือจริง ครบถ้วนเป็นธรรมหรือไม่ ถึงตอนนี้ทราบจากคลิปให้สัมภาษณ์ของรมว.ศึกษาธิการว่า มติ กกอ.ให้ รัฐมนตรีใช้ ม.44 กับ 2 มหาวิทยาลัยเท่านั้น ทั้งนี้ ในกระบวนการไม่มีเวทีตามกฏหมายให้ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยได้ต่อสู้โต้แย้งแต่อย่างไร
‘การใช้กระบวนการที่ไม่เป็นธรรมาภิบาล คงไม่สามารถแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาได้แน่ ในกรณี มทร.ล้านนา ที่จะมีการฟ้องศาลอาญาทุจริตฯกับ สกอ.นั้น หากถึงที่สุดพิสูจน์ได้ว่าถูก สกอ. กลั่นแกล้ง การตัดสินใจใช้ ม.44 ไปก่อน ต้องมีคำถามกับ กกอ. และ รมต. ว่าจะรับผิดชอบ เยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบ เกิดความเสียหาย เสียโอกาส และ การเสียชื่อเสียงของ มทร.ล้านนา ได้อย่างไร’
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ