สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดินหน้าขับเคลื่อน Green School Camp : ห้องเรียนสีเขียวรักพลังงาน อย่างเต็มรูปแบบ โดยในปี 2561 กำหนดให้มีการอบรมครู 5 ภูมิภาค และค่ายเยาวชน ซึ่งคาดหวังว่าจะมีศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา ครู ผู้บริหาร และนักเรียนประถม-มัธยม กว่า 2,716 คนเป็นต้นแบบการลดใช้พลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้จัดอบรมครูวิทยากรแกนนำค่าย Green School Camp : ห้องเรียนสีเขียวรักพลังงาน รุ่นที่ 4 ที่เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี มีโรงเรียนเข้าร่วม 384 แห่ง โดยมีองค์ความรู้ที่ครูวิทยากรแกนนำ จะสามารถนำไปถ่ายทอดให้แก่นักเรียน รวมทั้งเป็นต้นแบบที่ดีในการลดใช้พลังงาน การจัดการขยะ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านฐานการเรียนรู้ 2 ส่วน คือ
ฐานการเรียนรู้ด้านการลดใช้พลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ของ สพฐ. ประกอบด้วย ฉลาดคิด ฉลาดใช้ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม, เส้นทางชีวิตของผลิตภัณฑ์สู่ตะกร้าเขียว, Go Green For Life , น้ำใช้ น้ำทิ้ง เพื่ออนาคต และรวมพลังความคิดพิชิต CO2 และฐานการเรียนรู้ด้านพลังงานของ กฟผ. ประกอบด้วยไฟฟ้ามีประโยชน์มากมาย, แหล่งกำเนิดไฟฟ้า, อุปนิสัยประหยัดไฟฟ้าและปลอดภัย, Smart Learning Energy, การใช้และบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า และคิด คิด คิด พิชิต CO2
ทั้ง 11 ฐานการเรียนรู้จะก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำไปแก้ไขวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยนำกระบวนการ 3R (Reduce, Reuse, Recycle) เพื่อให้เกิดการใช้น้อย การใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ และกลยุทธ์ “3 อ.” อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน อาคารประหยัดพลังงาน และอุปนิสัยประหยัดพลังงาน
สำหรับครูแกนนำที่เข้าร่วมอบรมในรุ่นที่ 4 ต่างสะท้อนมุมมองเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างน่าสนใจ อาทิ ครูไกรสร สุทธิชาติ ผู้สอนวิชาสังคมศึกษามัธยมปลาย โรงเรียนเมืองกระบี่ จ.กระบี่ กล่าวถึงการอบรมได้เทคนิควิธีการถ่ายทอดดีมาก โดยเฉพาะการลงมือปฏิบัติที่จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ทุกอย่าง สำหรับสิ่งที่อยากจะนำไปถ่ายทอดที่สุด คือเรื่องความตระหนัก และการลงมือทำจริง เหมือนการสอนว่าอะไรดี ไม่ดี ทุกคนรู้หมดเลยว่าอะไรคือสิ่งที่ดี ไม่ดี ที่ถูก ที่ผิด แต่มีสักกี่คนที่ตระหนัก เช่นเดียวกับในทางพุทธศาสนาสอนเรื่องหิหริโอตัปปะ การละอายต่อบาป รู้ว่าบาปแต่ก็ทำ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะนั้น เราต้องทำให้เด็กๆ เห็นว่ามันเป็นปัญหาและต้องลงมือทำ โดยครูต้องทำให้เด็กเห็นเป็นแบบอย่าง
ด้านครูสุชาดา ศรีภักดี ผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับประถม โรงเรียนบ้านคลองยาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ กล่าวถึงกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดประโยชน์กับตัวนักเรียนอย่างมาก 1.การสร้างอุปนิสัยในการประหยัดพลังงานไฟฟ้า 2.เมื่อเด็กมีอุปนิสัยที่ดีแล้ว เด็กจะนำลงไปปฏิบัติในครอบครัว และ 3. คือชุมชน เพราะโรงเรียนอยู่ในบริบทของสถานที่ท่องเที่ยว และมีหมู่บ้านท่องเที่ยว ซึ่งมีท่าเรือ มีสระว่ายน้ำธรรมชาติให้เที่ยวชม จึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ดังนั้น โรงเรียนและชุมชน จึงร่วมมือกันจัดเวรดูแลรักษาความสะอาด จัดการขยะบนเกาะ โรงเรียนเรียนรู้ควบคู่กับภัยคุกคามทางธรรมชาติ เพราะเราอยู่ในเขตทะเลฝั่งอันดามัน ซึ่งเคยเกิดสถานการณ์เตือนภัยสินามิ คือมีอยู่วันหนึ่งโรงเรียนจัดกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือที่ทะเล เด็กต้องแสดงรอบกองไฟ ผู้ปกครองได้รับข่าวผ่านการเล่นไลน์ว่า จะเกิดสินามิฝั่งทะเลอันดามัน ผู้ปกครองจึงมารับลูกกลับบ้านทันที ซึ่งถ้าถึงเวลาเกิดเหตุการณ์จริง เราก็ไม่สามารถรับมือได้ เราจึงต้องเตรียมพร้อมเรียนรู้และปรับตัว เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว”
เช่นเดียวกับ ครูเชิงชาย ชูช่วง ผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์มัธยมต้น โรงเรียนนาสาร อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฏร์ธานี กล่าวถึงการลดใช้พลังงาน การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศและโลก ที่เด็กต้องเรียนรู้และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยการสร้างอุปนิสัย สร้างจิตสำนึกที่ดี ถ้าเด็กทุกคนมีจิตสำนึก โรงเรียนไม่ต้องมีถังขยะเลย ซึ่งรวมถึงเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมด้วย การที่ครูสอนในคาบเรียน เด็กพยักหน้าเข้าใจ แต่เมื่อเด็กเดินผ่านถุงพลาสติกข้างทางก็เดินเลยผ่านไป แสดงว่าเรายังสร้างจิตสำนึกให้เด็กไม่ได้
ดังนั้น ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้เด็กรวมถึงลูกหลานคนในบ้าน ในชุมชน และสังคมที่เราอยู่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันในการรักษาสิ่งแวดล้อม การแยกขยะ เพื่อให้เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม จนเกิดความตระหนักรับผิดชอบร่วมกัน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ