หลักสูตร EtoE เสริมสมรรถนะเด็กช่าง
ตามที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้มีนโยบายพัฒนาผู้เรียนอาชีวศึกษาให้พร้อมที่จะเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ผลงาน ควบคู่กับการพัฒนาสมรรถนะในวิชาชีพ และเน้นให้ผู้เรียนมีคุณธรรม ตามหลัก SEE (Skills, English, Ethics) และมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นฐานสมรรถนะ หรือ Education to Employment : Vocational Boot Camp (EtoE) ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนซึ่งได้รับการตอบรับเกินคาดหมายทั้งจากนักเรียนและผู้ประกอบการ
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เผยว่า สอศ.ได้จัดการอบรมหลักสูตร E to E ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 แล้ว และกระแสตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ มีนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ระดับ ปวช.3 และปวส.2 ต่างตื่นตัวและกระตือรือร้น ที่จะเข้ารับการฝึกกับครูฝึกในสถานประกอบการชั้นนำ ได้เรียนรู้กับเครื่องจักรกลที่ทันสมัย ในสถานการณ์จริง ได้ทำชิ้นงานจริง
อย่างเช่น วิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรี นำโดย นายเรืองแสง ห้าสกุล ผอ.วิทยาลัย ฯ สนับสนุนผู้เรียนอาชีวะร่วมโครงการและจัดให้นักศึกษาระดับ ปวส.2 แผนกเทคนิคการผลิต สาขาช่างกลโรงงาน จำนวน 13 คน เข้าฝึกอบรมหลักสูตร EtoE กับสถานประกอบการมนัส นาคหนู (สำนักงานใหญ่) จ.ราชบุรี ในหลักสูตรช่างควบคุมเครื่องกล ซีเอ็นซี จำนวน 30 ชั่วโมง (26 เม.ย.-11พ.ค.2561) ซึ่งเป็นสาขาที่ตลาดมีความต้องการมาก และมีค่าตอบแทนสูงให้กับผู้ที่ควบคุมเครื่อง
คุณมนัส นาคหนู ซึ่งเจ้าของสถานประกอบการ และจบสาขาโดยตรงตั้งแต่ระดับ ปวช.ถึงปริญญาตรี และเคยผ่านงานเป็นพนักงานของบริษัทที่จัดจำหน่ายเครื่องกล ซีเอ็นซี จึงมีความรู้ในเรื่องระบบเครื่องกลต่าง ๆ เป็นอย่างดี จนเปิดกิจการส่วนตัว มีโรงงานที่ได้มาตรฐาน มีลูกค้าอยู่ทั่วประเทศ คุณมนัส ยินดีรับนักศึกษาทั้ง 13 คน เข้าฝึกอบรม เพราะต้องการให้นักศึกษาที่เรียนด้านนี้มีทักษะวิชาชีพที่แม่นยำ มีความรู้ลึกในการใช้และการควบคุมเครื่องกล ซีเอ็นซี จากการพูดคุยกับคุณมนัส ทราบว่ามีการจัดกระบวนการฝึกและขั้นตอนการเรียนรู้ การฝึกอบรมไว้อย่างครบถ้วน เริ่มจากให้นักศึกษาเรียนรู้การใช้งานโปรแกรมงานกลึง สำหรับงานกลึง หลักการควบคุมเครื่องกลึง การเซ็ทอัพเครื่องกลึง การบำรุงรักษาเครื่อง โดยมีเกณฑ์ตัวชี้วัดในแต่ละเรื่องที่ชัดเจน
นอกจากนี้ในแต่ละวันยังสอดแทรกเรื่องนิสัยอุตสาหกรรมให้กับนักศึกษาด้วย เพราะนิสัยอุตสาหกรรมจะทำให้นักศึกษาทำงานกับเครื่องจักรกลได้อย่างปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี แม้จะอยู่ในโรงงาน และทุกวันก็จะฝึกให้นักศึกษาได้ใช้ภาษาอังกฤษสำหรับช่างเครื่องกล ซีเอ็นซี ด้วย เพื่อให้เกิดความคล่องและความเคยชินในการสื่อสาร
การฝึกอบรมหลักสูตร EtoE จะทำให้นักศึกษามีความคล่องตัวและเชื่อมั่นในวิชาชีพมากขึ้น สามารถทำงานได้ทันทีหลังเรียนจบ และมีใจรักในงานอุตสาหกรรม วางแผนอนาคตได้เร็ว หากไม่ทำงานกับสถานประกอบการก็สามารถเป็นเจ้าของกิจการด้วยตนเองได้ และที่สำคัญ สอศ.ได้ผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์ มีความเอื้ออาทร และมองเห็นความสำคัญของการศึกษามาช่วยฝึกอบรม จึงทำให้การฝึกอบรมครั้งนี้เกิดความประทับใจกับทุกฝ่าย ที่สำคัญประเทศชาติได้คนคุณภาพจากอาชีวศึกษาไปช่วยพัฒนากลไกทางเศรษฐกิจ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ