กศน.ขยายตลาดออนไลน์ฉบับชาวบ้าน
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย กศน.ช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้สำนักงาน กศน.เข้ามามีส่วนช่วยเหลือประชาชน ในการสร้างช่องทางการขายสินค้า และเพิ่มรายได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและชุมชน นั้นในฐานะที่ตนกำกับดูแลสำกนังาน กศน. ได้มอบแนวทางการขับเคลื่อนเรื่องนี้แก่นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. โดยให้ กศน.ทั่วประเทศ ช่วยเหลือประชาชนในการทำการค้าออนไลน์ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Line, Facebook, Instagram รวมถึงการค้าขายผ่านเว็บไซต์ e-Commerce หรือ e-Market โดยในระยะแรกเป็นการขยายผลจากกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการอบรมหลักสูตร e-Commerce จากศูนย์ดิจิทัลชุมชมของ กศน.(ปี 2559-2561) ที่ผ่านมา จำนวน109,000 คน โดยให้ผู้ที่ผ่านการอบรม 1 คนต้องสามารถขยายผลต่อประชาชน 3 คน
ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2561 จะมีประชาชนได้รับความรู้ สามารถขายสินค้าออนไลน์ ในรูปแบบต่างๆ ประมาณ 300,000 คน ซึ่งจะมีเงินหมุนเวียนในระบบสูงถึง 3,000 ล้านบาท
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน กศน.ได้เปิดพื้นที่ของ กศน.อำเภอ/ตำบล กว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน. (ONIE Online Commerce Center – OOCC) เป็นสถานที่จัดแสดงสินค้า ประชาสัมพันธ์ จำหน่ายหรือสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ตลอดจนให้คำปรึกษาความรู้เกี่ยวกับการผลิตและการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยเบื้องต้นเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามแนวทางไทยนิยม ยั่งยืน
ด้านนายกฤตชัย กล่าวว่า สำนักงาน กศน.มีต้นทุนเดิมที่ดีอยู่แล้ว สามารถพัฒนาต่อยอดได้ทันที กล่าวคือผลิตภัณฑ์ชุมชนที่รวบรวมภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนของ กศน. ประกอบกับที่ กศน.จัดอบรมให้ความรู้หลักสูตร Digital Literacy แก่ ครู ก., ครู ข. และ ครู ค. ในช่วง 2ปีที่ผ่านมา และมีการขยายผลสู่ประชาชนผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในเรื่องของการรู้เท่าทันเทคโนโลยีอีกด้วย
“เราต้องให้นิยามคำว่า “ผู้มีรายได้น้อย” ตรงกัน เพื่อทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยมีการสำรวจกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน ได้ตรงจุด จากนั้นจะจัดทำชุดความรู้เกี่ยวกับการขายและการตลาดแบบง่าย ๆ เพื่อให้ครู กศน.นำไปจัดกระบวนการเรียนรู้แก่เกษตรกร สามารถนำไปปฏิบัติเองได้ เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับ e-Commerce พร้อมทั้งจัดทีม ครู กศน.เป็นชุดประสานงานในระดับพื้นที่ กับกระทรวงอื่น/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งต่อเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับการช่วยเหลือต่อไป เชื่อว่าแนวทางนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน การพัฒนาชุมชน ตลอดจนส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ”เลขาธิการ กศน.กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ