เชื่อมโยงทั้งระบบ คาดเสร็จทันประกาศปีการศึกษา2561
ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ผอ.สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้มอบหมายให้ สนผ.จัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาขั้นพื้นฐาน 20 ปี เพื่อเป็นแนวทางการจัดการศึกษา ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579ให้มีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบ
ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่องความมั่นคง ต้องดูว่าแผนการศึกษาแห่งชาติซึ่งมีหลายด้าน แล้ว สพฐ.ซึ่งจัดการศึกษาในระบบจะต้องดูแลเรื่องอะไรบ้าง ที่จะไปสนับสนุน เสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง โดย สพฐ.จะทำอะไรเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการสร้างอาชีพ และวิชาการ เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การลงทุนทรัพยากรมนุษย์ การสร้างศักยภาพ มีจุดเน้นต้องสร้างเด็กทุกคนให้มีความรู้ ความสามารถ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักทรงงานศาสตร์พระราชา ที่สำคัญเด็กทุกคนจะต้องมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร และมีทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 มีทักษะวิชาการ/วิชาชีพ/ชีวิต ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ สพฐ. ที่จะต้องเตรียมเด็กที่อยู่ในวัยการศึกษาเหล่านี้
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะเด็กชายขอบ เด็กในพื้นที่สูง ซึ่ง สพฐ.ได้ลงตรวจเยี่ยมโรงเรียนเหล่านี้ในภูมิภาคต่าง ๆ แล้ว เพื่อนำข้อมูลมาตั้งงบฯ จัดระบบสารสนเทศดูแล ซึ่งข้อมูลล่าสุดโรงเรียนชายขอบจำนวนมากยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีโซลาร์เซลล์ สพฐ.กำลังทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน และตั้งงบฯ จัดซื้อเครื่องปั่นไฟให้โรงเรียน เพื่อสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยยุทธศาสตร์นี้ นายกรัฐมนตรี, รมว.ศึกษาธิการ และ เลขาธิการ กพฐ. อยากเห็นเรื่องการลดปริมาณขยะทุกพื้นที่ รวมถึงในโรงเรียน โดยเน้นการจัดการขยะให้เกิดประโยชน์ หรือเด็กช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพัฒนาควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอน และยุทธศาสตร์สุดท้าย การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เรื่องนี้ สพฐ.ทำต่อเนื่องอยู่แล้ว เช่น การกระจายอำนาจ การมอบอำนาจในการจัดการงบฯ การบริหารงานบุคคลลงพื้นที่ ให้สำนักงานเขตพื้นที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ คือเป้าหมายหลักของ สพฐ.ในแผนการศึกษาชาติ 20 ปี หลังจากนี้ สพฐ.จะจัดทำแผนเป็นช่วง ๆ ระยะ 5 ปี 10 ปี 15 ปีและ 20 ปี จากนั้นจะนำแผนแต่ละช่วงมาแบ่งรายปี เริ่มตั้งปี 2561 , 2562 , 2563 เรื่อยไปว่า แต่ละช่วงหรือแต่ละปีจะเน้นเรื่องอะไร แล้วทำประชาพิจารณ์ ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้ และประกาศใช้ได้ทันปีการศึกษา 2561 แน่นอน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ