“กรรมการสภา มทร.ล้านนา เสียงข้างมาก” ยืนยันทำทุกอย่างถูกต้อง ไม่ขัดกม.-ข้อบังคับ เผย “ประพัฒน์” เตรียมยื่นฟ้องศาล ให้ชี้ขาด ยันคุณสมบัตินั่งรักษาการอธิการบดี ไร้ปัญหาเหตุยังอยู่ในขั้นตอนไต่สวนของ ป.ป.ช.
จากกรณีที่ ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา ได้ออกมาชี้แจงว่าการประชุมสภา มทร.ล้านนา โดยมีนายสุทัศน์ จุลศรีไกวัล ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมสภาฯ พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบให้ ผศ.ประพัฒน์ เชื้อไทย รักษาการอธิการบดี มทร.ล้านนา ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.2561 เป็นต้นมานั้น เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามบทบัญญัติข้อบังคับทุกประการนั้น
ล่าสุด วันที่ 2 พ.ค.2561 ดร.ภาสวรรธน์ วัชรดำรงค์ศักดิ์ รองอธิการบดี มทร.ล้านนา ได้เปิดเผยกับ “สยามรัฐ” โดยยืนยันว่าการประชุมที่มี รศ.สุทัศน์ จุลศรีไกวัล ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมสภาฯ นั้นเป็นไปด้วยความถูกต้อง ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย ตลอดจนมีบทบัญญัติข้อบังคับรองรับทุกประการ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2561 นายกสภา มทร.ล้านนา ได้ชิงปิดการประชุมโดยที่ยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้นสักวาระเดียว ขณะที่วาระการประชุมในวันนั้น มีวาระของการแต่งตั้งรักษาการอธิการบดี มทร.ล้านนา ซึ่งมีกำหนดหมดวาระลงในวันที่ 24 เม.ย.25561 ตามคำสั่งเดิม เพราะฉะนั้น ในเมื่อภายหลังจากที่ ศ.ดร.ธีรวุฒิ ปิดการประชุมไปแล้ว ทางคณะกรรมการสภาฯ ส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ จึงขอใช้ข้อบังคับการประชุมสภามหาวิทยาลัย มทร.ล้านนา พ.ศ.2548 ข้อบังคับที่ 19 และ 20 ในการประชุมครั้งใหม่ เพื่อขอแต่งตั้งกรรมการสภาฯ ที่มีอาวุโสสูงสุด ที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานในที่ประชุม
ดร.ภาสวรรธน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ได้ประชุมถึงเรื่องรายงานการสอบข้อเท็จจริงของ ผศ.ประพัฒน์ เชื้อไทย ตามที่คณะกรรมการได้นำเสนอในสภา มทร.ล้านนา นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังไม่มีมติของสภาออกไป เพราะฉะนั้นจึงยังไม่สามารถนำไปใช้ในทางกฎหมายใด ๆ ได้ เรามีมติอย่างชัดเจนจากการประชุม เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมวาระพิเศษ 1/2561 มติข้อที่ 2 ซึ่งได้ใช้ข้อบังคับที่ 8 ขอให้คณะกรรมการสภาฯ จำนวน 1ใน 4 ลงนาม ถึงนายกสภา มทร.ล้านนา เพื่อขอเปิดประชุมภายใน10วัน เนื่องจากเป็นวาระเร่งด่วนและสำคัญ ต่อการบริหารราชการมหาวิทยาลัย ในตอนนั้นมีอุปนายก รวมทั้งสิ้น 18-19 คน และนายกสภามทร.ล้านนา ได้มีการเชิญประชุม ในวันที่ 18 เม.ย.2561 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งท่านเป็นนายกสภาฯ ที่นั้นด้วย
ในการประชุมวันดังกล่าว มีการพิจารณาวาระเรื่องของการแต่งตั้งรักษาการแทนอธิการบดี กับวาระเรื่องตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย เมื่อมาถึงวาระการแต่งตั้งรักษาการแทนอธิการบดี นายกสภาฯ ได้มีหนังสือด่วน เรียนกรรมการสภาฯ ทุกคนในที่ประชุม แล้วบอกว่านายกสภาฯ ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ผศ.ประพัฒน์ เป็นรักษาการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา ด้วยเหตุผลต่างๆ 7-8 ข้อ สุดท้ายตนได้ลุกขึ้นชี้แจงในที่ประชุมว่า ในเมื่อ ผศ.ประพัฒน์ ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมครั้งนี้ ตนในฐานะที่เคยทำงานร่วมกับท่านมา ตั้งแต่ปี 2547 ขออธิบายว่าสิ่งที่นายกสภาฯ ได้ระบุในข้อคัดค้านตามความเห็นส่วนตัวของท่านนั้นมีอะไรบ้าง
สำหรับกรณีที่นายกสภา มทร.ล้านนา ระบุถึงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้ง ผศ.ประพัฒน์นั้น มาจากกรณีมีมูลกระทำความผิดเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรง และได้ส่งผลการสอบข้อเท็จจริง ไปให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) นั้น ดร.ภาสวรรธน์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการไต่สวน และตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่ปี 2552 และตราบใดที่ ป.ป.ช.ยังไม่ชี้มูล คงไม่มีใครกล้าชี้มูล เพราะหาก ป.ป.ช.มีผลสรุปออกมาว่า ไม่มีมูลความผิด แต่สภา มทร.ล้านนา ชี้มูลว่ามีความผิดก็จะเกิดความขัดแย้งกัน และถูกฟ้องตามมา ซึ่งประเด็นนี้มีการถกเถียงกันอย่างมากในที่ประชุม ดังนั้น จึงไม่มีมติสภา มทร.ล้านนา ออกมาแต่อย่างใด
แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เม.ย.2561 นายกสภา มทร.ล้านนา ได้นำผลเรื่องนี้ไปยื่นต่อ สกอ.ทั้งที่เรามีมติตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.2561 ไปแล้วว่าห้ามเอาผลเรื่องนี้ไปเป็นมติสภา มทร.ล้านนา หรือนำไปใช้ในทางกฎหมายอื่น เรามีมติชัดเจน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 19 ท่าน ได้ลงนามรับรองกันเรียบร้อย จากนั้นเราได้ส่งรายงานเรื่องนี้ไปยัง สกอ.และ รมว.ศึกษาธิการ ด้วย
“เมื่อถูกคณะกรรมการต่างๆ สอบถามในวันที่ 18 เม.ย.2561 กรรมการก็ได้บอกว่าเมื่อการสอบข้อเท็จจริงยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้นกรรมการส่วนใหญ่จึงขอพิจารณาการแต่งตั้งจากท่านนายกสภาฯ ว่าท่านจะเสนอใครเป็นรักษาการฯ ส่วนคณะกรรมการส่วนใหญ่ จะเสนอชื่อ ผศ.ประพัฒน์ และจากนั้นขอให้มีการลงมติลับ แต่ท่านนายกสภาฯ ก็ยังไม่ยอม และขอปิดการประชุมเป็นครั้งที่สองและเดินออกจากห้องประชุมไป”
ดร.ภาสวรรธน์ กล่าวต่อว่า จากนั้นกรรมการเสียงส่วนใหญ่ จึงขอให้ รศ.สุทัศน์ เป็นประธานในการประชุมฯ เราจึงได้พิจารณาวาระการแต่งตั้ง ผศ.ประพัฒน์ ให้เป็นรักษาการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา โดยมีมติ 16 ต่อ 0 ในการขยายเวลา ซึ่งเป็นการอนุสนธิคำสั่งเดิม เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2560 แล้วขยายเวลาในการรักษาราชการไปจนกว่าสภา มทร.ล้านนา จะมีมติให้เป็นอย่างอื่น ซึ่งเรายังไม่ได้มีการแต่งตั้งรักษาการแทนอธิการบดี แต่ให้มีการขยายเวลารักษาการออกไป
“หากพูดถึงในแง่ของกฎหมายนั้น ต้องถือว่าอำนาจอยู่ที่สภา มทร.ล้านนา อำนาจ คือกรรมการเสียงส่วนใหญ่ 29 ท่านกรณีเต็มคณะ แต่ในเมื่อนายกสภามทร.ล้านนา ไม่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยที่วอล์คเอาท์ออกไปนั้น จึงต้องมีการดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องว่างในการบริหารของมหาวิทยาลัย ที่จะส่งผลต่อความเสียหายทางราชการ ทั้งเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่เมื่อเราใช้มติสภา มทร.ล้านนา เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2561 คือ 16 ต่อ 0 เสียง ให้มีการขยายเวลาให้ ผศ.ประพัฒน์ รักษาการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา ต่อไป เรายืนยันว่าเราทำถูกต้องตามกฎหมาย”
เมื่อถามว่า จากปัญหาดังกล่าวจะมีทางใดที่จะนำมาซึ่งข้อยุติได้ในที่สุด ดร.ภาสวรรธน์ กล่าวว่า สุดท้ายทางสภา มทร.ล้านนา และ ผศ.ประพัฒน์ คงจะต้องไปฟ้องร้องต่อศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพราะสิ่งที่กระทำมา หากนำมาร้อยเรียงให้เห็นเป็นเรื่องราว มีความชัดเจนว่า เป็นขบวนการกลั่นแกล้ง และทำโดยมิชอบ ซึ่งเรื่องนี้ตนได้พูดคุยกับ ผศ.ประพัฒน์ แล้วจึงทราบว่าท่านคงจะดำเนินการขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด เพราะ สกอ.ก็ไม่มีอำนาจที่จะมาชี้ขาดได้ ซึ่งเรื่องของการตั้งกรรมการสอบสวน ก็เช่นเดียวกัน ยังให้อิงการพิจารณาโทษหรือการสอบสวนทางวินัยกับข้าราชการ มทร.ล้านนา ตามข้อบังคับ และระเบียบข้อบังคับ ก็ได้ระบุชัดเจนว่า การสอบสวนอธิการบดี ผู้ที่จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้นั้นคือ เลขาธิการ กกอ. แต่ต้องได้รับการลงมติหรืออนุมัติจากมติสภามหาวิทยาลัย ส่งไปให้ สกอ.
ดังนั้น การที่นายกสภา มทร.ล้านนา ไปรายงานต่อ สกอ.เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2561 นั้น ไม่ใช้มติจากสภา มทร.ล้านนนา ซึ่งคาดว่าคงจะส่งไปในนามส่วนตัวของท่าน แต่หากไปอ้างว่าเป็นมติสภามทร.ล้านนา ท่านก็จะผิดทันที
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ