บอร์ด ก.ค.ศ.หารือความพร้อมการสอบบรรจุ”ครูผู้ช่วย”รูปแบบใหม่ ขอปรับรายละเอียดอีกนิด พ.ค.นี้ประกาศปฏิทินสอบแน่นอน “สพฐ.-สวนดุสิต” ร่วมกันจัดสอบ
วันที่ 18 เม.ย.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่าที่ประชุมหารือการเตรียมความพร้อมการจัดสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งกำหนดจะประกาศรับสมัครในเดือน พ.ค.2561
ทั้งนี้ การจัดสอบครูผู้ช่วย ครั้งนี้จะแตกต่างจากที่ผ่านมา โดยส่วนกลางหรือ สพฐ. จะเป็นผู้จัดสอบร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษา และเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) เป็นผู้ออกข้อสอบ ซึ่งจะต้องมีมาตรการป้องกันข้อสอบรั่ว หรือให้มีการรู้ข้อสอบล่วงหน้า
ดังนั้น ในส่วนของหลักเกณฑ์การจัดสอบและระเบียบต่าง ๆ จึงยังไม่เรียบร้อย โดยที่ประชุมยังมีข้อท้วงติงหลายเรื่อง ที่จะต้องปรับแก้ในรายละเอียด เพื่อให้การจัดสอบมีความเป็นธรรม รวมถึงกรณีการเปิดสอบในสาขาขาดแคลน ซึ่งอยากให้เป็นสาขาที่ขาดแคลนจริง
“เรื่องสำคัญที่ต้องสร้างการรับรู้ คือ ในอดีตมีครูซึ่งอายุมาก หรือบางคนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแล้ว มา สอบครูผู้ช่วย เมื่อสอบได้ก็ย้ายไปที่อื่นในตำแหน่งเดียวกัน แต่เป็นวิธีย้ายพิเศษ ซึ่งพอไปดูกฎหมายทำไม่ได้ ดังนั้นการสอบครูผู้ช่วยปีนี้ ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า คนที่เป็นครูผู้ช่วยอยู่แล้วจะมาสอบไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่มาสอบเพื่อวัตถุประสงค์ในการย้ายไม่สามารถทำได้ เพราะตามกฎหมายทำไม่ได้ จะสามารถทำได้เฉพาะครู สังกัดหน่วยงานอื่น ให้มาสอบแข่ง เพื่อเข้ามาบรรจุเป็นครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ.”
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า ที่ประชุมยังรับทราบ คำสั่งศาลปกครองอุบลราชธานี ซึ่งได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ คบ.51/2561 ในคดีหมายเลขดำที่ บ.75/2560 ระหว่างนายเฉลิมเกียรติ แก้วกนก ผู้ฟ้องคดี กับ ก.ค.ศ. ผู้ถูกฟ้องคดี โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า การที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามข้อ 10 และ ข้อ 11 ของหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกคำขอของผู้ฟ้องคดี ซึ่งจากนี้ สพฐ.จะดำเนินการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาได้ตามขั้นตอน โดยกระบวนการย้ายจะต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 พ.ค. ส่วนขั้นตอนการสอบ ผอ.และ รอง ผอ.โรงเรียนนั้น ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียด ต้องขอให้ย้าย ผอ.โรงเรียน ให้เรียบร้อยก่อน
ด้านนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า จากคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว มีผลให้การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ.สามารถดำเนินการโดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการาย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสพฐ. ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว24 ลงวันที่ 31 ก.ค.2560 ต่อไปได้ ที่ประชุมจึงให้ยกเลิกมติชะลอการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ.และเห็นชอบแนวทางการดำเนินการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาโดยให้ดำเนินการพิจารณาย้าย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ตามหลักเกณฑ์ ว24 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 พ.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ในวันที่มีมติให้มีการชะลอการย้ายฯ มีการดำเนินการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 6 กรณี ได้แก่ 1.กรณีที่พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติ และออกคำสั่งตามมติดังกล่าวแล้ว และได้ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานศึกษา ตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว จำนวน 17 จังหวัด 2.กรณีที่พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติ และออกคำสั่งตามมติดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานศึกษาตามคำสั่งดังกล่าว จำนวน 5 จังหวัด 3.กรณีที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่ออกคำสั่ง จำนวน 18 จังหวัด 4.กรณีที่คณะอนุกรรมการ กศจ.พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่นำเสนอ กศจ.จำนวน 16 จังหวัด 5.กรณีที่กลั่นกรองการย้ายแล้ว แต่ยังไม่เสนอ อกศจ. และ กศจ.จำนวน 5 จังหวัด และ 6.กรณีที่ยังไม่ดำเนินการใด ๆ จำนวน 12 จังหวัด
ทั้งนี้ มีจังหวัดที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลการดำเนินการ จำนวน 4จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด และหนองคาย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ