ประเทศไทยอยู่ในช่วงปฏิรูปประเทศ และประเด็นการปฏิรูปการศึกษา ก็เป็นวาระการปฏิรูปที่สำคัญวาระหนึ่ง ซึ่งตลอดช่วงเวลาของการปฏิรูปการศึกษา มีทั้งการดำเนินการในส่วนที่สำเร็จและไม่สำเร็จ และที่ผ่านมาวิธีการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการจัดการศึกษาทั้งผู้ประกอบการและภาคเอกชน และคนกลุ่มหนึ่งที่ ศธ.ให้ความสำคัญเพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงนั่นคือเด็กและเยาวชน
วันนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา โดยให้ร่วมแสดงความคิดเห็นในการวางแผนการจัดการศึกษา กำหนดอนาคตของพวกเขาด้วยตัวเอง จึงได้จัดโครงการประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของกลุ่มเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นจากเด็กและเยาวชนทุกกลุ่มเป้าหมาย และทุกระดับ ทุกประเภทการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และเด็กนอกระบบการศึกษา หรือ เด็ก กศน. เกี่ยวกับเรื่องรูปแบบการเรียนรู้วิถีการเรียนรู้ และทักษะที่จำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ให้สอดคล้องและตรงต่อความต้องการของเด็กและเยาวชน ในแต่ละภูมิภาคและแต่ละช่วงวัย ให้เด็กได้รับความรู้ทักษะและประสบการณ์มากที่สุด เพื่อการจัดการศึกษาที่จะนำไปสู่ประชาชนที่มีคุณภาพในอนาคต ตามเป้าหมายของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 และคนไทยมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาของชาตินั่นเอง
ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ได้จัดเวทีประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ โดยเปิดให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็นในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน และตลอดระยะเวลา 10ปีที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การศึกษามีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยครู อาจารย์ นักวิชาการ และผู้ใหญ่พยายามช่วยคิดและผลักดัน แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่สามารถทำให้เกิดความก้าวหน้าได้เท่าที่ควร หรือยังมีอุปสรรคอยู่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีโอกาสน้อยมากที่จะสอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับผลจากการปฏิรูปการศึกษาโดยตรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน สกศ.จึงมีการเปิดเวทีนี้ขึ้นมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนว่า พวกเขามีความคาดหวังอย่างไร อยากให้ระบบการศึกษาเป็นอย่างไร และอยากให้ห้องเรียน ครู สื่อ และตำราเรียนเป็นอย่างไร
“การจัดเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้จะจัดขึ้นในทุกภูมิภาค โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่ จ.ขอนแก่น ภาคเหนือ จัดที่ จ.เชียงใหม่ ภาคใต้ จัดที่ จ.นครศรีธรรมราช ภาคกลางจัดที่กรุงเทพฯ และครั้งสุดท้ายที่ จ.สงขลา ซึ่งจะมีเด็กใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นก็จะประมวลข้อมูลที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และ สกศ. เพื่อประกอบการวางแผนจัดทำนโยบายข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ที่เกิดจากเด็กและเยาวชน ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นข้อมูลที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง” ดร.ชัยยศ กล่าว
ขณะที่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ มีความคิดเห็นต่อการปฎิรูปการศึกษายุค 4.0น่าสนใจยิ่ง โดยนายนนทศักดิ์ สีสุดชา นักเรียน ม.6โรงเรียนอนุกูลนารี จ.กาฬสินธุ์ สะท้อนถึงสิ่งต้องการอันดับแรกต้องคืนครูสู่ห้องเรียน ปลดภาระครูจากงานที่เป็นเอกสาร ครูต้องมีทักษะการสอนให้นักเรียนเข้าใจ ให้เด็กสร้างสรรค์ในสิ่งที่เขาอยากเรียนรู้ ครูต้องทำหน้าที่เป็นครูผู้สอนจากเมื่อ 100 ปีก่อนมาเป็นผู้เรียนสมัยใหม่ กระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วครูต้องเป็นผู้อำนวยการนักเรียนอย่างแท้จริง
“พวกเราอยากให้มีการเรียนรู้แบบไม่จำกัดในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ในความคิดของนักเรียน เพราะตอนนี้จะต้องเปิดประตูไปสู่นวัตกรรมต่าง ๆ แต่การเกิดนวัตกรรมได้ ต้องคิดเป็น กล้าที่จะสร้างสรรค์ เมื่อเรามีนวัตกรรม ที่พร้อมการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ก็ต้องมีความพร้อมตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เด็กจะมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัวของเขามากขึ้น เลิกเรียนแบบท่องจำ ปล่อยให้เรียนรู้ด้วยต้นเอง ทุกการปฏิรูปบางครั้งไม่ได้สำเร็จ แต่ก็ไม่ได้หยุดอยู่ที่เดิมมันจะเคลื่อนไปเรื่อย ๆ ซึ่งผมมีความหวังกับการปฏิรูปครั้งนี้ว่าจะดีขึ้น เพราะที่ผ่านมากรรมการร่างปฏิรูปการศึกษา จะประชุมอยู่แต่ในห้องไม่กี่คน แต่เมื่อสภาการศึกษาเปลี่ยนแนวคิดที่จะลงมาฟังความคิดเห็นของเด็กว่าต้องการอะไร ผมคิดว่าสภาการศึกษาทำถูกต้องแล้ว เพราะผู้ใหญ่ที่ทำการปฏิรูปการทุกคนก็อายุมากแล้ว ดังนั้นการที่จะมาทำงานกับการศึกษา หมายถึง อนาคตของชาติ หมายถึงอนาคตของเด็กคนหนึ่ง ถ้าจะเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือเปลี่ยนแปลงอะไรก็ต้องถามตัวเด็กด้วยเพราะเด็กได้รับผลกระทบโดยตรง” นายนนทศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ตัวแทนอาชีวศึกษา กล่าวว่า การเรียนอาชีวะเน้นลงมือปฏิบัติจริง เพื่อเพิ่มทักษะให้เกิดความเชี่ยวชาญ แต่กลับมีปัญหาเครื่องมืออุปกรณ์ที่ฝึกปฏิบัติไม่เพียงพอ จึงเสนอให้ร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อให้นักศึกษาไปฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการจริง พร้อมกันนี้ เสนอให้มีระบบการเรียนรู้ผ่านออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญ หรือนำหลักสูตรต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ ที่สำคัญต้องเพิ่มความรู้ด้านภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษา โดยเฉพาะศัพท์ช่างสาขา ให้นักศึกษาสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว ถ้าหากมีความรู้ด้านภาษาจะก้าวหน้าในอาชีพ และสามารถศึกษาต่อระดับปริญญาด้วย
ตัวแทนระดับอุดมศึกษา กล่าวว่า นักศึกษาที่เรียนระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ เรียนแบบค้นคว้า อยากเห็นอาจารย์ นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนพื้นฐานหลักการและเหตุผล มากกว่าเรียนทฤษฎี ส่วนห้องเรียนในฝันคือ ห้องเรียน 3มิติ ห้องเรียนนอกสถานที่ ห้องเรียนที่มีผู้สอนคู่กับผู้ที่มีประสบการณ์จริง ทักษะที่จำเป็น คือทักษะด้านสังคม ทักษะด้านการสื่อสาร และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะชีวิตและอาชีพ
สำหรับตัวแทนจากการศึกษานอกระบบ หรือ กศน. ให้ความเห็นว่า คนเรียน กศน.แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มเด็กวัยรุ่น มาเรียนเพื่อต้องการวุฒิการศึกษาไปใช้ในการประกอบอาชีพ หรือการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และอีกกลุ่มคือ คนมีอายุ มักมาเรียนเกี่ยวกับทักษะอาชีพ เพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพเสริม สำหรับเด็ก กศน.แล้วสิ่งที่อยากได้ คือห้องเรียนที่มีความหลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการผู้เรียนสำคัญ คือ กศน.จะต้องมีการสำรวจว่าผู้เรียนส่วนใหญ่ต้องการเรียนอะไร เช่น ทำอาหาร นวดไทย ก็เชิญผู้ที่มีความรู้ด้านนั้นมาสอน เพื่อให้ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ยังมีกลุ่มสำคัญ ที่ต้องได้รับบริการทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม นั้นคือ กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ โดยตัวแทนเด็กชาติพันธุ์ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เห็นว่า การเรียนรู้จากลงมือทำเน้นปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ตามความสนใจและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เรียนรู้ชาติพันธุ์ของตนเอง เน้นอาชีพมากกว่าวิชาการ รู้สิทธิ รู้รากเหง้า รู้เท่าทัน วิธีการเตรียมความพร้อม เมื่อเวลาเรียนรู้สิ่งที่สนใจ มีการสรุปกระบวนการแบบมีส่วนร่วม ได้อะไรบ้าง รู้สึกอย่างไร สิ่งทีเราเรียนไปนำไปใช้ได้ยังไงในชีวิต (head heart hand) อยากให้ไม่มีการเลือกปฏิบัติ วิชาที่ควรสอน คือ การอยู่รวมกันอย่างหลากหลาย การต่อสู้เอาตัวรอด การปรับตัว ส่งเสริมจินตนาการ การเรียนรู้ด้วยตนเอง ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน การวางแผน การอยู่ในชุมชน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนต่างภาษาและวัฒนธรรม เด็กไม่ควรเกิน 20 คน ไม่ควรประเมินจากการสอบอย่างเดียว ควรวัดจากการปฏิบัติด้วย
จากนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าสิ่งที่ตัวแทนเด็กและเยาวชนได้สะท้อนออกมาจะตกผลึกและนำไปสู่การปฏิบัติเกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างไร
———————
@ วารินทร์ พรหมคุณ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ