วรวรรณ สายงาม เภสัชกรไทยผู้วิจัยสารสกัดกัญชาลดปวดโรคมะเร็ง
หลังจากที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดตัวงานวิจัยและพัฒนาตำรับสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการขอขึ้นทะเบียนไปแล้วนั้น …เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว เกิดจากเภสัชกรหญิง(ภญ.)วรวรรณ สายงาม อาจารย์ประจำศูนย์วิจัย คณะเภสัชศาสตร์ ผู้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง “ตำรับสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา” ซึ่งนับเป็นคนแรกของประเทศไทย
ภญ.วรวรรณ เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากโครงการแรกที่มีการสกัดสารให้ได้สารสำคัญปริมาณสูงมาแล้ว จะนำมาคำนวณ เพื่อให้ทราบขนาดยาที่ใช้ในการรักษา โดยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์รูปแบบสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากที่สกัดจากพืชกัญชาที่มีจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่มีใช้ภายในประเทศไทย เนื่องจากกัญชา จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และไม่มีการอนุญาตให้นำมาใช้ในทางการแพทย์ เบื้องต้นหวังผลเกี่ยวกับอาการปวดจากโรคมะเร็ง ซึ่งมีส่วนช่วยในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาแผนปัจจุบัน
ทีมวิจัยเภสัชศาสตร์ จึงได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวอย่างซึ่งสกัดจากกัญชา โดยกระบวนการสกัดสารสำคัญใช้ตัวทำละลายและเทคนิคพิเศษที่ทันสมัย จนได้สารสกัดเพื่อนำมาใช้เตรียม “ตำรับสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา” (Formulation Development of Oromucosal Spray from Cannabis Extract) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วย โดยเน้นไปที่การบำบัดรักษาอาการปวดปลายประสาทในโรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) และอาการปวดจากโรคมะเร็ง ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด เป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง
สำหรับผลิตภัณฑ์นี้มุ่งเน้นไปที่การบำบัดอาการปวดจากโรคมะเร็ง ซึ่งมีอุบัติการณ์การเกิดโรคในประเทศไทยค่อนข้างมาก เพื่อลดอาการข้างเคียงเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด นับว่าเป็นการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการขอขึ้นทะเบียนต่อไป
เหตุผลที่เลือกเป็นสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก เนื่องจากเมื่อเราฉีดพ่นสเปรย์เข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุในช่องปาก ตัวยาสามารถดูดซึมได้ทันที ซึ่งแตกต่างจากยารับประทาน หากเราทานยาลง ตัวยาหรือสารสำคัญจะถูกสารในร่างกายทำลายได้ ดังนั้น ข้อดีที่เด่นชัดของยารูปแบบนี้คือ ตัวยาจะไม่ถูกทำลายที่ตับและออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า
การศึกษาวิจัยเพื่อทดสอบฤทธิ์ของสารกัญชาต่อมะเร็งทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในหลายประเทศ นอกจากนี้ สารสกัดกัญชา, สาร THC และสาร CBD ยังได้รับการยอมรับทางการแพทย์เพื่อนำมาใช้ลดอาการปวด อาการคลื่นไส้อาเจียน อาการแพ้จากการได้รับยาเคมีบำบัด ได้มีการจดทะเบียนและอนุญาตให้ใช้ได้ในหลายประเทศ โดยสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา มีองค์ประกอบของสาร THC และสาร CBD ซึ่งอาจมีผลลดมะเร็งได้ จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
“งานวิจัยชิ้นนี้เราคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยมะเร็งเป็นหลัก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย สามารถลดอาการปวดจากภาวะโรค เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งทุกวันนี้มีผู้ป่วยมะเร็งที่ทดลองใช้กัญชา เพื่อลดอาการปวดของตนเองอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีการควบคุมขนาดยาที่เหมาะสม การใช้ขนาดยาที่ไม่เหมาะสม หรือไม่สม่ำเสมออาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย ดังนั้น การที่เรามีผลิตภัณฑ์ที่สามารถควบคุมขนาดยาได้ ก็สามารถรับรองในระดับหนึ่งได้ว่า ขนาดยานี้ปลอดภัยกับผู้ป่วย สามารถลดอาการปวดได้จริง
อย่างไรก็ตาม ถ้าตำรับนี้ให้ผลดีก็จะพัฒนาตำรับรูปแบบอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น รูปแบบยาที่ปลดปล่อยแบบควบคุม พัฒนาตำรับยาออกฤทธิ์นาน เพื่อสะดวกในการบริหารยาแก่ผู้ป่วย และเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าจะจดอนุสิทธิบัตรผลงานในโครงการนี้ด้วย” ภญ.วรวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ