แต่ห่วงหลังการเมืองเปลี่ยนการบริหารสะดุด “หมออุดม” ยันผูกติดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากใครมาเปลี่ยนให้แย่ลง สังคมคงไม่ยอม
วันที่ 11 เม.ย.2561 นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบพลับบลิค สกูล (Public School) ว่า ที่ประชุมได้เปลี่ยนชื่อโครงการพับบลิค สกูล เป็น พาร์ทเนอร์ชิพ สกูล (Partnership School) หรือ โรงเรียนร่วมพัฒนา คือโรงเรียนยังเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีงบประมาณให้ แต่การบริหารจัดการโรงเรียนทำโดยผู้มีส่วนร่วม ตั้งแต่ท้องถิ่น ประชาสังคม ผู้ปกครอง ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งจะแตกต่างจากโรงเรียนประชารัฐ ที่มีอยู่ 3,000 กว่าโรงเรียน ซึ่งคณะทำงานหวังว่าจะเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการโรงเรียนของ ศธ.ทั้งหมด ซึ่งตนคิดว่าหากมีการพัฒนาและเดินตามแนวนี้ไปเรื่อยๆ ใน 20 ปี โรงเรียนในไทยจะเหมือนในต่างประเทศที่เจริญแล้ว ภาคสังคมในท้องถิ่นจะเป็นผู้ดูแล และเป็นประธานสถานศึกษา คัดกรรมการสถานศึกษาเอง ศธ.มีหน้าที่ปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆให้ และดูแลคุณภาพมาตรฐานของโรงเรียน
ส่วนประเด็นเรื่องการบริหารงานบุคคล ซึ่งผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่เข้าร่วมประชุมด้วยบอกว่า สามารถปลดล็อกได้ ระเบียบเปิดไว้แต่ที่ผ่านมาเราไม่กล้าทำ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)จึงสามารถกำหนดเรื่องของการจ้างครูใหม่ การกำหนดคุณสมบัติผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ 4 ปีอย่างต่อเนื่อง ส่วนเงินเดือนของผู้ปฏิบัติงานจะใช้อัตราเงินเดือนเดิม เพียงแต่มีการประเมินผลการทำงานตามเป้าหมายของสถานศึกษาซึ่งจะมีเงินท็อปอัพระหว่างปฏิบัติหน้าที่โรงเรียนร่วมพัฒนา การกำหนดหลักสูตรสามารถกำหนดเองได้ยืดหยุ่นอีก 30% ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สพฐ.ทำคู่มือปฏิบัติงานพร้อมทั้งหน่วยงานประสานงานกลางขึ้นเพื่อดูแลโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา มีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน เวลาโรงเรียนร่วมพัฒนามีปัญหาก็ส่งเรื่องมาที่หน่วยงานนี้ โดยไม่ต้องผ่านศึกษาธิการจังหวัด หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)
“ขณะนี้มีบริษัทเอกชน 10 แห่งเสนอรายชื่อโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มาแล้วประมาณ 70 โรง อาทิ บริษัท มิตรผล จำกัด (มหาชน) เสนอชื่อโรงเรียนมา 4 โรง อาทิ รร.บ้านหนองไผ่ดุสิตประชา รร.บ้านภูดิน(มิตรผลอุปถัมภ์)จ.ชัยภูมิ วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น วิทยาเขตหนองเรือ จ.ขอนแก่น รร.สมสะอาดพิทยาสรรพ์ จ.กาฬสินธุ์ โรงเรียนอุตสาหกรรมน้ำตาลอิสาน และบริษัท รามาฟู้ด จำกัด เสนอโรงเรียนวัดปลักไม้ลาย จ.นครปฐม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่เข้าร่วมประชุมได้แสดงความกังวลว่าหากเปลี่ยนรัฐบาลแล้วนโนบายจะเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งผมให้คำยืนยันว่าเรื่องได้เขียนไว้ในแผนยุทธศาสตร์ ศธ. ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปีที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)กำกับไว้ และหากเป็นโครงการที่ดี หากใครมาเปลี่ยนทำให้ดีน้อยลง หรือแย่มากขึ้น สังคมคงไม่ยอม”นพ.อุดม กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ