วิกฤติรร.เอกชนเด็กน้อยเลย์ออฟครู ยังหวังทางรอดรัฐอุดหนุนรายหัว100%
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 กำหนดให้รัฐ ต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ทำให้สถานศึกษาของรัฐ ทั้งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ศูนย์เด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอีกหลายหน่วยงาน ต้องขยายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเล็ก มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2560และขยายจำนวนเพิ่มขึ้นในปีการศึกษา 2561 ซึ่งเรื่องนี้ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 แล้ว คือจำนวนนักเรียนชั้นก่อนประถมศึกษาในโรงเรียนเอกชนลดลง เพราะเด็กย้ายไปเรียนโรงเรียนรัฐเนื่องจากเป็นการเรียนฟรี
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวต่อว่า ในปีการศึกษา 2561 คาดว่าโรงเรียนของรัฐจะขยายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเล็ก อย่างเต็มพื้นที่ และเด็กโรงเรียนเอกชน จะลดลงมากขึ้น โดยประเมินว่ารวมกันทุกชั้นอาจลดลง 10-20% หรือ 30,000-50,000 คน ซึ่งมีปัจจัยจากจำนวนประชากรลดลงด้วย และถ้าเป็นอย่างที่คาดการณ์จริง ไม่เฉพาะโรงเรียนเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ ครูเอกชนก็จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะเมื่อจำนวนเด็กลดลง ค่าใช้จ่ายรายหัวก็ต้องลดลง แต่ค่าใช้จ่ายของโรงเรียนไม่ได้ลดลงตาม ก็อาจต้องเลย์ออฟครู หรือให้ครูที่ไม่ผ่านการประเมินออก ทั้งในส่วนของครูและอัตราจ้าง หรือถ้ามีครูลาออกก็คงไม่รับเพิ่ม เพราะโรงเรียนต้องการลดค่าใช้จ่ายเช่นกัน
“มีความเป็นไปได้ว่าต้องเลย์ออฟครูเกือบหมื่นคน โดยเฉพาะระดับอนุบาลกับประถม ซึ่งเรื่องนี้อาจไม่มีใครเห็น แต่มันเป็นกระแสที่เตือนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม จากการที่สมาคมโรงเรียนเอกชนทุกประเภท ได้เข้าพบหารือร่วมกับ รมว.ศึกษาธิการ ได้มีการนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไข โดยขอรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว 100% ซึ่งถ้ารัฐให้ได้ โรงเรียนเอกชนก็สามารถจัดฟรีได้เช่นกัน ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ รับไปพิจารณา ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าคงยังไม่ได้ทันที แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะค่อย ๆ ขยับเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นให้ได้”ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ