“หมอธี”แนะให้คุยสภาการศึกษา ขอเพิ่มสพม.ทุกจังหวัด
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เสนอแยกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) จากปัจจุบันที่มีอยู่ 42สพม. มาเพิ่มในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ว่าตนยินดีที่จะให้มี สพม.ทุกเขตพื้นที่การศึกษา แต่ทุกอย่างต้องทำตามกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ตนได้ดูแล้วว่าสภาการศึกษา สามารถแนะนำรัฐมนตรีฯ เพื่อให้ประกาศเขตการศึกษาเพิ่มขึ้นได้
ดังนั้น เรื่องนี้ สพฐ. และสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) จะต้องเข้าไปคุยกับสภาการศึกษา และให้ผ่านสภาการศึกษามาให้ได้ก่อน โดยตนได้มอบให้ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานประชุม คณะกรรมการสภาการศึกษาในครั้งต่อไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาการศึกษา ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ได้เสนอให้ตั้งเขตพื้นที่การศึกษาพิเศษ รูปแบบพิเศษขึ้นมาอีก 1 เขตที่ จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 3-4 จังหวัด โดยจะเน้นเฉพาะโรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) และให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ ทั้งนี้ จะต้องไปดูรายละเอียดในข้อกฎหมายหลายประเด็นว่าจะต้องเขียนอย่างไรเพื่อไม่ให้ขัดต่อข้อกฎหมาย เพื่อเสนอสภาการศึกษาให้เร็วที่สุด เนื่องจากความเห็นส่วนใหญ่ต้องการให้เพิ่ม สพม. เพื่อให้การบริหารงานบุคคลง่ายขึ้น
“สำหรับความกังวลของสังคมว่าจะเกิดภาระผูกพันงบฯ ที่เกี่ยวกับคน อาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ หรือไม่นั้น สพฐ.ยืนยันว่า เรื่องคนนั้น สพฐ.สามารถบริหารอัตราที่มีอยู่ทุกตำแหน่งเพื่อไปจัดตั้ง และเกลี่ยคนที่มีอยู่เดิมได้ จะไม่มีการเพิ่มอัตราข้าราชการ แต่เพิ่มอัตราจ้างแทนอาจจะจ้างเอกชน พนักงานตำแหน่งลูกจ้าง และต้องไปดูว่าทีดีอาร์ไอ คิดอย่างไรในเรื่องนี้ แต่ทางปฏิบัติขณะนี้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ได้เตรียมร่างแนวปฏิบัติในการดำเนินการจ้างบุคคล ในฐานะพนักงานราชการ ตามมาตรา 52 ไว้แล้ว”ดร.บุญรักษ์กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ