สอศ.จับมือสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง-เปิดหลักสูตรปวส.ระบบขนส่งทางรางใน3สาขาที่เทคนิคชลบุรี เริ่มปีการศึกษา 2561
วันที่ 29 มี.ค.2561 ที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ มักกะสัน กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงดำเนินการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านระบบขนส่งทางราง ให้แก่นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) สาขาวิชาระบบขนส่งทางราง และสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศให้ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน และจากข้อมูลของคณะอนุกรรมการด้านการระบบขนส่งทางรางและพัฒนาบุคลากร ประมาณการความต้องการด้านบุคลากรระบบรางทั่วประเทศ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า อยู่ประมาณ 31,307 คน ประกอบด้วย วิศวกร 5,740 คน ช่างเทคนิค 11,480 คน และสาขา อื่นๆ 14,087 คน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าตลาดแรงงานมีความต้องแรงงาน โดยเฉพาะช่างเทคนิคระดับ ปวส.จำนวนมาก เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา เพื่อรองรับระบบขนส่งทางราง และพัฒนาบุคลากร สถาบันในสังกัดสู่ความเป็นเลิศ สอศ.จึงร่วมกับสมาคมฯ ทำโครงการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านระบบขนส่งทางรางเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (EEC) สู่ความเป็นเลิศ
เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวจะเริ่มในวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี สาขาวิชาระบบขนส่งทางราง ระดับ ปวส. ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขางานอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม (Signaling and Telecommunication) สาขางานตู้รถไฟ (Rolling Stock) สาขางานซ่อมบำรุงระบบราง (Track Work) ซึ่งจะเริ่มต้นในปีการศึกษา 2561 โดยจัดในรูปแบบการเรียนการสอนเน้นรูปแบบ Work-integrated Learning (WIL) แบบเข้มข้น และระบบทวิภาคีเข้มแข็ง ระยะเวลาการศึกษาตลอดหลักสูตร 2 ปี หรือ 3 ปี (แบบทวิวุฒิ) จัดการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการ STEM และ Project base Learning
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ