</p>
“ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10ทรงมีพระราโชวาทให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ปรับเรื่องคุณภาพโดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาครู ที่ถือเป็นต้นน้ำทางการศึกษา เพราะครู 80% มาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎ ถ้าครูไม่มีคุณภาพ เด็กจะมีคุณภาพได้อย่างไร ต่อไปนี้ครูจะต้องเน้นทัศนคติการศึกษามากกว่าเนื้อหาสาระ
เนื้อหาสาระความรู้เราสามารถเปิดดู Google ได้ทุกเรื่อง แต่ทัศนคติการศึกษา จะต้องใฝ่รู้ไฝ่เรียนอยู่ตลอดเวลาจะต้องช่วยเหลือตนเองได้ เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ”
ยุทธศาสตร์ประเทศ20ปี ซึ่งมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) เป็นบทกำกับการปฏิบัติ มีเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยพัฒนาขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพิ่มประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลของภาครัฐและเอกชน
โดยเน้นการเติบโต บนการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านแผนปฎิบัติการ 4ข้อ ได้แก่ 1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง 2.การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านอุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการประเทศไทย 4.0 ที่สนับสนุน การพัฒนาอุตสาหกรรม รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ การท่องเที่ยว การเกษตร รวมถึงการสร้างศักยภาพในอุตสาหกรรมใหม่ 3.การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 4.การสร้างความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับประเทศในอนุภูมิภาค ภูมิภาค และนานาประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป้าหมายระยะ 5ปีของแผน คือGDPโตเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยเน้นการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน ที่เพิ่มขึ้น 10% และ 7.5% ตามลำดับ ซึ่งแผนจะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย บนความพยายามที่จะลดการพึ่งพาแรงงานภาคอุตสาหกรรม โดยเพิ่มอัตราการเติบโตธุรกิจบริการที่ 6% ต่อปี
…แต่ทว่าปัจจัยสำคัญด้านหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายได้นั้น คือต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นกำลังเป็นมันสมองของชาติ “สยามรัฐ สัปดาหวิจารณ์” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้เข้ามาช่วยงานกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผลักดันงานใหญ่พัฒนาอุดมศึกษาไทย 4.0 เพื่อสร้างปัญญาชนรุ่นใหม่ ขึ้นมาเป็นกำลังเป็นมันสมองของชาติ
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า การวางยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี เป้าหมายใหญ่หลัก คือการพัฒนาศักยภาพและยกระดับให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ทุกด้าน ยังไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนที่จะทำเรื่องนี้ได้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง พัฒนาตัวเอง เราจะถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง เรามองเศรษฐกิจโลกตอนนี้ทุกคนเหมือนกันหมด คือเป็นเศรษฐกิจพื้นฐานความรู้ ซึ่งทุกคนจะต้องมีพลวัตตลอดเวลา ทุกอย่างทำอะไรต้องใช้องค์ความรู้ ถ้าใครไม่มีความรู้ก็จะอยู่ไม่ได้อย่างยั่งยืน
“ผมได้อ่านเจอบทสัมภาษณ์ซีอีโอ ของบริษัทที่อยู่ได้นานกว่า 100 ปี สิ่งหนึ่งที่เขาตอบเหมือนกันหมดคือ 100 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เขาประสบความสำเร็จ และทำให้บริษัทเติบโต และมีความรุ่งเรืองอยู่ตลอดเวลา คือองค์กรแห่งการเรียนรู้ ต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ และพัฒนาตลอดเวลาถึงจะอยู่ได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ชัดเจนมาก ดังนั้นเมื่อกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องรับผิดชอบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และรัฐธรรมนูญก็กำหนดครั้งแรกเลยว่าให้มีการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยตั้งแต่ 0-5ขวบ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครดูแล ไม่เคยเขียนไว้ในกฎหมาย แต่รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะเด็กในวัยเรียนตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา จนถึงอุดมศึกษา ต้องมีความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน”
– การแยกกระทรวงการอุดมศึกษา
การศึกษา คือพื้นฐานการพัฒนาทุกอย่าง ทุกด้านจริง ๆ ถ้าไม่มีการศึกษา ไม่มีองค์ความรู้ก็จะไปไม่ได้ ดังนั้นหลักการของประเทศก็คือ ต้องมีการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเราคุยกันมาหลาย 10 ปีแล้ว แต่ก็ไม่บรรลุผลสำเร็จ ตอนนี้จึงคิดว่าจะต้องทำอย่างจริงจัง เพราะจากที่ดูข้อมูลที่ต่างประเทศมีการประเมินการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย เห็นชัดว่าการศึกษาในบ้านเราตกต่ำไปเรื่อย ๆ ตามหลังอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย เหลือแค่ลาวกับกัมพูชาเท่านั้นที่อยู่หลังเรา แต่ไล่ ๆ เรามาแล้ว รัฐบาลจึงต้องกลับมาดูเรื่องนี้ เพราะได้มีบทเรียนจากประเทศต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ก็ดี บทเรียนจากทั่วโลกก็ดี ทำให้เราต้องทุ่มเทเรื่องการศึกษาให้มากขึ้น
กระทรวงศึกษาธิการ ดูแลครอบคลุมการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งอุ้ยอ้ายเกินไป สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำคือ เรื่องการแยก “อุดมศึกษา” โดยให้มีการจัดตั้งเป็น “กระทรวงการอุดมศึกษา” ตอนนี้ผ่านกระบวนการสำคัญไปแล้ว เช่น ผ่านคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นซูเปอร์บอร์ดด้านการศึกษาประเทศ ต่อไปก็จะสู่กระบวนการของคณะกรรมการกฤษฎีกา และเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งคาดการณ์ไม่น่าจะมีอะไรติดขัด และอีกประมาณ7-8 เดือน “กระทรวงการอุดมศึกษา” ก็จะเกิดขึ้น
กระทรวงนี้จะเป็นหัวหอกในการปฏิรูปการศึกษา เพราะการอุดมศึกษา มีคอนเซ็ปต์ต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เป็นการศึกษาพื้นฐานภาคบังคับที่ให้ทุกคนมีความรู้ อยู่กับสังคมได้ อยู่ในระบบแรงงานได้ แต่ การอุดมศึกษา ไม่ใช่การศึกษาสำหรับทุกคน แต่เป็นการศึกษาสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะสามารถใช้ศักยภาพของตนสร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างมูลราคาเพิ่ม ทั้งด้านท่องเที่ยว เกษตรกรรม อิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรม เพื่อที่จะยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้แข่งขันกับต่างประเทศได้
– ในประเด็นเรื่องของการวางแผนกำลังคน และงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ได้จริง
นี่คือปัจจัยหลักของอุดมศึกษาจึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใด นายกรัฐมนตรี จึงมีนโยบายอยากให้มีการแยกกระทรวงการอุดมศึกษา เพราะเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญ ดังนี้ 1. เป็นกระทรวงที่จะมาวางแผนการผลิตและพัฒนาคนของประเทศ ซึ่งในต่างประเทศจะมีการวางแผนกำลังคนไว้ล่วงหน้า เช่น อาชีพที่ไม่ค่อยมีหน่วยงานไหนใช้ ก็จะแจ้งให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตให้น้อยลง ถ้าผลิตออกมาแล้วตกงานก็เสีย
เศรษฐกิจของประเทศต้องมองไปข้างหน้า 5-10 ปี โลกจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ มีอาชีพใหม่เกิดขึ้น เช่นขณะนี้เรื่องที่ใกล้ตัวเราคือ การสร้างรถไฟความเร็วสูง เรื่องของระบบราง แต่ประเทศยังขาดแคลนกำลังคน ช่างเทคนิควิศวกรเรามีน้อยมาก คนไม่พอกับงาน และหากเราจะไปจ้างจีน หรือญี่ปุ่นเข้ามาทำงานให้เรา แล้วคนในประเทศไทยจะทำอย่างไร ดังนั้น กระทรวงการอุดมศึกษา จะต้องเป็นกระทรวงที่วางแผนการผลิตกำลังคนในประเทศให้ได้
2. การอุดมศึกษา ต้องมีหน้าที่ทำวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่เอาไปต่อยอด ให้เป็นอินโนเวชั่น นวัตกรรมเพื่อจะสร้างเป็นสินค้า ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของประเทศไทย 4.0ที่ต้องพึ่งตัวเองได้ลดการนำเข้า เพราะปัญหาของประเทศเราสร้างและผลิตเองน้อยมาก 80% ต้องสั่งสินค้าเข้ามาประกอบเอง ปีหนึ่งเราเสียดุลนำเข้าเป็นจำนวนมหาศาล ดังนั้นเราต้องคิดเองทำเองให้ได้
ตอนนี้นายกฯ ให้ไปทบทวนเรื่องการให้ทุนวิจัย ว่าวิจัยมาแล้วต้องนำไปต่อยอดและใช้ได้จริง เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีการตั้งเป้าหมายเรื่องนี้ไว้ ดังนั้น จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าการขอทุนวิจัยจะต้องวิจัย 10อุตสาหกรรม เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศเท่านั้น คือการต่อยอดในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม 5กลุ่ม คือ 1.ยานยนต์แห่งอนาคต 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 4.เกษตรเชิงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ และ 5.อาหารแห่งอนาคต และเพิ่มเติมในอีก 5กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ คือ 1.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 2.ขนส่งและการบิน 3.พลังงานและเคมีชีวภาพ 4.อุตสาหกรรมดิจิทัล และ5.การแพทย์และสุขภาพ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังให้ทั้ง 10กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นกลไกหลักในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น
-การพัฒนาหลักสูตรอาชีวะพรีเมียม กับการตอบโจทย์อุตสาหกรรม ของประเทศ
ตอนนี้ผมกำลังให้ดำเนินการยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษา ตามนโยบายรัฐ หรืออาชีวะพรีเมียม ที่จะสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมของประเทศทั้ง 10 ด้านนี้ได้ ซึ่งเป็นบัณฑิตที่สามารถทำงานได้จริง มีความคิดวิเคราะห์ที่จะพัฒนาตนเองต่อยอดไปได้ โดยขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังจัดทำหลักสูตรส่งมาให้ดู เพื่อให้ทันเปิดเทอมในเดือนสิงหาคม 2561นี้ และถ้ามหาวิทยาลัยไหนสามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ก็จะให้เงินท็อปอัพ(เงินอุดหนุนเพิ่มเติมพิเศษ)ด้วย
ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศขณะนี้กำลังคนสายวิชาชีพทั้งหลายถือเป็นกระดูกสันหลังใหญ่ แต่ขณะนี้เราขาดทั้งปริมาณคือจำนวนไม่เพียงพอ และคุณภาพที่ต้องมีทักษะที่สูงขึ้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติได้ มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ และไม่สามารถยกระดับจีดีพี ได้
ขณะนี้เราเน้นการเรียนอาชีวะแบบทวิภาคี เป็นการเรียนแบบเข้มข้น อย่างน้อยครึ่งเวลาของหลักสูตร เช่นหลักสูตร 2ปีต้องไปอยู่ที่สถานประกอบการอย่างน้อย 1ปี โดยมีอาจารย์ตามไปประกบ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปลายทาง รวมถึงการประเมินผล ซึ่งจะทำให้สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ เพราะที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนว่าเด็กจบแล้วทำงานไม่ได้ ต้องใช้เวลาฝึกอย่างน้อย 1-2 ปี แต่ระบบทวิภาคีนั้นมีความร่วมมืออย่างเข้มข้น และร่วมกันจัดทำหลักสูตร ประเมินผล ทำให้โดนใจสถานประกอบการ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเรียนอาชีวะจบแล้วทำงานได้ทันที
วันนี้มีคนเรียนจบ ปวช. ปวส. ประมาณ 20ล้านคน แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะการเปลี่ยนแปลงของประเทศไปเร็วมาก เราต้องนำคนกลุ่มนี้มาพัฒนาศักยภาพ ทำหลักสูตรให้เข้มข้นและต่อเนื่องให้มีทักษะสูงขึ้น และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้
ขณะเดียวกัน ก็ทำโครงการยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวะตามนโยบายรัฐบาล หรืออาชีวะพรีเมียม 6สาขา ใน 19วิทยาลัยที่จะเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2561 นี้ เป็นการนำร่องยกระดับคุณภาพการอาชีวะก่อนการขยายผลไปยังวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อไป
– แนวโน้มการศึกษาในอนาคต และการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไทย
หลักสูตรพันธุ์ใหม่ เน้นผลิตบัณฑิตมาพัฒนาสร้างความแข่งขันได้ หลักสูตรที่เกิดใหม่ จึงกำหนดว่าจะต้องมีร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม หรือภาคเอกชน และจะต้องเรียนในภาคอุตสาหกรรม หรือเอกชน 50% ของเวลาเรียน เพราะที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรม สะท้อนว่าบัณฑิตที่จบมาทำงานภาคอุตสาหกรรมต้องฝึกอีก 1-2 ปี จึงจะทำงานได้ เพราะเรียนแต่วิชาการในห้องเรียนไม่ได้ทำงานจริง ดังนั้น ต่อไปเด็กที่จบออกไปแล้วจะต้องทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้ทันที
และต่อไปการศึกษาจะไม่เน้นปริญญา แต่จะเป็นหลักสูตรที่เรียกว่า Non degree มากขึ้น คือหลักสูตรที่พัฒนาทักษะสมรรถนะเป็นสำคัญ เช่น พนักงานแบงค์ตกงานอยากหาอาชีพใหม่ก็ให้เรียนในวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพ ที่เปิดหลักสูตร6เดือน หรือ1ปี แล้วก็ได้ใบประกาศไปสมัครงานได้ เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัย ก็ต้องยกระดับตัวเองให้ “มหาวิทยาลัย4.0” ต้องผลิตบัณฑิตที่จะเป็น“บัณฑิต 4.0” เป็นมันสมองพัฒนาสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ให้ได้ ถึงจะสอดคล้องกันไปได้ไม่ใช่สอนแบบเดิม ๆ อีกต่อไป
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10ทรงมีพระราโชวาทให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ปรับเรื่องคุณภาพโดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาครู ที่ถือเป็นต้นน้ำทางการศึกษา เพราะครู 80% มาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎ ถ้าครูไม่มีคุณภาพ เด็กจะมีคุณภาพได้อย่างไร ต่อไปนี้ครูจะต้องเน้นทัศนคติการศึกษามากกว่าเนื้อหาสาระ
เนื้อหาสาระความรู้เราสามารถเปิดดู Google ได้ทุกเรื่อง แต่ทัศนคติการศึกษา จะต้องใฝ่รู้ไฝ่เรียนอยู่ตลอดเวลาจะต้องช่วยเหลือตนเองได้ เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ครูต้องมีคุณภาพและครูต้องปรับทัศนคติใหม่ เน้นการสอนที่กระตุ้นการคิดวิเคราะห์แก่เด็ก ๆ ผู้เรียนได้ เพราะเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ต้องต่อยอดมาถึงมหาวิทยาลัยในอนาคตเช่นกัน
สัมภาษณ์พิเศษ โดย :วารินทร์ พรหมคุณ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ