กอปศ.เผยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดสรรงบฯ แบบใหม่ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเด็กยากจน 4.3 ล้านคน “สมพงษ์” ชี้เป็น Start up ของการปฏิรูปการศึกษา เหตุช่องว่างคุณภาพการศึกษาเด็กเมืองชนบทต่างกันถึง 20 เท่า
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ จัดเวทีวิชาการร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ และ กอปศ. กล่าวว่ กอปศ.ได้รับมอบหมายภารกิจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 54 ให้ยกร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมทางวิชาการเพื่อรับฟังข้อมูลทางวิชาการและประสบการณ์ในระดับนานาชาติ ที่เป็นประโยชน์ต่อการตรากฎหมาย ซึ่งรัฐบาลและกอปศ.เห็นตรงกันว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ แม้ว่าที่ผ่านมาการลงทุนงบฯ การศึกษาจะสูงกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี แต่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงอยู่ ยังมีเด็กเยาวชนมากกว่า 670,000 คน ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาหรือราว 5% ของประชากร เพราะความยากจน โดยองค์การยูเนสโก ประเมินว่ามีเด็กที่มีศักยภาพในการเรียนต่อ แต่ต้องออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจะสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 1.7% ของ GDP ประเทศไทยต่อปี คิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท
“ข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังพบว่ามีนักเรียนยากจนในระบบการศึกษามากกว่า 2 ล้านคน ที่ครอบครัวมีรายได้ต่อคนต่อเดือนต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน หรือวันละ 100 บาท ขณะที่การจัดสรรงบฯ เพื่อเด็กเยาวชนยากจน มีเพียงวันละ 5-15 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการไปโรงเรียนในแต่ละวัน งบฯ ส่วนนี้รวมปีละ 3,000 ล้านบาท หรือ 0.5% ของงบฯ การศึกษาของประเทศ และไม่ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้นตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ขณะที่งบฯ ด้านการศึกษาของประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี นั่นคือ เด็กเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์กว่า 2 ล้านคน ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 50 สตางค์สุดท้ายของงบฯ การศึกษา จึงเป็นที่มาของการเขียนรัฐธรรมนูญ ให้มีกองทุนที่มีภารกิจสำคัญในการปฏิรูปประเทศ ผ่านการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพของครู โดยมีการบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบใหม่”
ดร.ประสาร กล่าวและว่า กองทุนนี้จะครอบคลุม 7 กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กปฐมวัยในครอบครัวยากจน เด็กเยาวชนวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบการศึกษา นักเรียนยากจนและด้อยโอกาสในระบบการศึกษา เยาวชนและประชาชนที่ยากจนและต้องการการพัฒนาศักยภาพ ครูและสถานศึกษาผู้ดูแลเด็กเยาวชนในกลุ่มเป้าหมายของกองทุน รวมทั้งสิ้น 4.3 ล้านคน โดยมีหลักการจัดการงบฯ แบบใหม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 4 ข้อคือ 1.ความคุ้มค่าแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง เริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัยที่ยากจน เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเตรียมความพร้อมก่อนวัยเรียน 2.ลงทุนให้เพียงพอ โดยกองทุนจะเป็นหลักประกันให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการจัดสรรจากเงิน 5 บาทแรกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเสมอ ไม่ว่านโยบายการศึกษาจะเปลี่ยนไปก็ตาม ด้วยหลักการ “เปลี่ยน 50 สตางค์สุดท้าย เป็น 5 บาทแรก” ของงบฯ การศึกษา
3.ลงทุนอย่างฉลาดและโปร่งใส โดยใช้ข้อมูล นวัตกรรมใหม่ๆ และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ในการคัดกรองเด็กยากจนโดยติดตามพัฒนาการนักเรียนรายบุคคล และใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าตรวจสอบการเงินที่เข้าบัญชีเพื่อป้องกันการทุจริตและการรั่วไหลของการใช้เงิน เน้นความโปร่งใสที่ต้องมีการรายงานข้อมูลแก่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และประชาชนเป็นประจำทุกปี และ 4.ร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เกิดการบูรณาการทรัพยากรและข้อมูลร่วมกัน ทั้งนี้ กองทุนที่ตั้งขึ้นมาใหม่ต้องมีทรัพยากรที่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาและมีความอิสระในการจัดการ ไม่เช่นนั้นกองทุนใหม่ก็เป็นกลไกแบบเดิมไม่ได้ผลต่างจากสิ่งที่เคยมีมา
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว จุฬาฯ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นนวัตกรรมการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคมไทย กองทุนนี้ถือเป็น Start up ของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำของประเทศ ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะเห็นได้จากครูกระจุกในเมือง ต่างจังหวัดครูไม่ครบชั้น สอนไม่ตรงสาขาวิชา และระบบการสอบแข่งขันยิ่งทำให้เกิดแต้มต่อของเด็กในเมืองในการเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาที่ต่างกันถึง 20 เท่า ซึ่งคุณภาพทางการศึกษาที่ต่างกันยิ่งเป็นตัวตอกย้ำเด็กยากจนให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ห่างขึ้นไปอีก หากไม่ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจลงก็ไปไม่ถึงไทยแลนด์ 4.0
ดังนั้น กองทุนนี้จึงถือเป็นนวัตกรรมแก้ความเหลื่อมล้ำด้วยวิธีการจัดสรรงบฯ แบบใหม่ จากเดิมที่คิดแบบเหมาจ่ายถัวเฉลี่ยเด็กจนรวย ในเมืองชนบทเท่ากัน เปลี่ยนเป็นการจัดสรรเงินไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ