“หมอธี” ยกระดับคุณภาพศึกษานิเทศก์ เป็นกำลังหลักสพฐ.โยงเชื่อมผู้บริหาร-ครู ย้ำศึกษานิเทศก์ไม่ใช่ภารโรงเขตพื้นที่
วันที่ 19 มี.ค.2561 ที่โรงแรมเอวาน่า กทม. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดประชุมพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ รุ่นที่ 9-13 ปี 2561 ว่า ศึกษานิเทศก์ เป็นกลุ่มหลักสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการปฎิรูปการศึกษา โดยต้องปราศจากการเมือง พร้อมช่วยส่วนกลางนำนโยบายสู่การปฎิบัติในพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และอยากให้ศึกษานิเทศก์ หาวิธีทำอย่างไรให้เด็กอยากเรียนหนังสือ และทำอย่างไรให้ครูอยากสอนหนังสือด้วย
“ในอดีต 100 กว่าปีมาแล้วระบบการจัดการศึกษาจะอยู่ที่โรงเรียน ครู และผู้บริหารจะเป็นผู้ขับเคลื่อน แต่ปัจจุบันเรามีศึกษานิเทศก์เกิดขึ้นแล้ว จึงต้องใช้กลุ่มงานศึกษานิเทศก์เหล่านี้ ให้เป็นผู้สนับสนุนและเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายบริหารระดับนโยบายกับครูผู้สอน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการปฎิบัติงาน และเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากยิ่งขึ้น เพื่อที่ครูจะได้ใช้เวลาจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกันศึกษานิเทศก์ จะต้องช่วยยกระดับคุณภาพผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนในการประเมินต่างๆ เช่น การประเมินระดับชาติ (PISA) การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เป็นต้น นอกจากนี้ศึกษานิเทศก์ จะมีหน้าที่สำคัญอีกหนึ่งบทบาทคือ การประกันคุณภาพการศึกษารูปแบบใหม่ ตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 ฉบับใหม่ ซึ่งเร็ว ๆ นี้ กรอบมาตรฐานการศึกษาที่จะใช้ประเมินคุณภาพจะเสร็จสิ้น ดังนั้นศึกษานิเทศก์ ต้องทำให้การประกันคุณภาพสถานศึกษามีคุณภาพด้วย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ก็มีข้อดีอยู่ แต่ตนอยากให้ศึกษานิเทศก์ ได้ลงไปติดตามด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีการจัดกิจกรรมแบบเดิม ๆ ไม่มีการปรับปรุง จึงอยากให้ปรับกิจกรรมลดเวลาเรียนให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย ขณะที่ในส่วนของการศึกษาระดับ ม.ปลาย นั้น ก็ต้องลงไปติดตามด้วยว่าเด็กเหมาะสมกับการทำกิจกรรมหรือไม่ เพราะเด็กจะต้องเรียนวิชาการเข้มข้นอาจมีเวลาไม่เพียงต่อ ดังนั้น จะต้องหากิจกรรมที่เสริมกับบทเรียน เช่น การคิดวิเคราะห์เพิ่มขึ้น การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ที่พิซามีข้อแนะนำว่า หากประเทศไทยเพิ่มชั่วโมงเรียนในวิชานี้อีก 1 ชั่วโมงจะทำให้คะแนนการประเมิน PISA เพิ่มขึ้น เป็นต้น
“ในยุคของผมได้ให้ความสำคัญกับศึกษานิเทศก์ มาตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งต่อไปนี้ศึกษานิเทศก์ จะมีบทบาทเป็นกำลังหลักของ สพฐ.ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษามากขึ้น ไม่ใช่ไปทำงานอื่นที่ไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นงานเอกสาร อีกทั้งผมยังได้ยินมาว่ามีการใช้ศึกษานิเทศก์ ไปคอยรับส่งลูก ผอ. ดังนั้น ผมจะส่งเสริมบทบาทศึกษานิเทศก์ให้มากขึ้น ต่อไปนี้ศึกษานิเทศก์จะไม่ใช่ภารโรงของสำนักงานเขตพื้นที่อีกต่อไป ขณะเดียวกันศึกษานิเทศก์ก็ต้องสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นกับตัวเองให้ได้ด้วย” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ