สร้างโมเดลครูแอคทีฟเลิร์นนิ่ง ก่อนขยายผลทั่วประเทศ
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารของสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.) เปิดเผยว่า เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่จะนำประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่จะให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้แล้วมีความสามารถเข้าถึงนวัตกรรมที่สอดคล้องกับท้องถิ่น ซึ่งแอคทีฟเลิร์นนิ่ง หรือการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ หรือการลงมือปฏิบัติ จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ทุกคนเห็นพ้องกัน โดยในวันที่ 22-23 มี.ค.2561 องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กระบี่, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) เขต13 (ตรัง-กระบี่), มหาวิทยาลัยทักษิณ และ พว. ได้ร่วมกันพัฒนาครูมัธยมศึกษาจังหวัดกระบี่ ทั้งจังหวัดอย่างเต็มระบบ ครอบคลุมทั้ง 8 อำเภอ จำนวนกว่า 850 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นฐานหลักในแต่ละสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระ และหลังจากการอบรมจะมีการติดตามผลร่วมกันโดย พว. และ ม.ทักษิณ
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวต่อไปว่า การอบรมครั้งนี้เป็นการอบรมอย่างเข้ม เพื่อให้ครูมัธยมศึกษาทั้งจังหวัด มีความเข้าใจการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่รูปแบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง หรือการเรียนรู้จากการปฏิบัติพร้อมกันในคราวเดียว ซึ่งจะต่างจากที่ผ่านมาที่การจัดอบรมจะจัดให้เฉพาะหัวหน้ากลุ่มสาระ หรือผู้แทนเพื่อให้กลับไปขยายผลให้แก่ครูในโรงเรียน ซึ่งการขยายผลอาจจะไม่ทั่วถึงและไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้น การนำร่องอบรมพร้อมกันทั้งจังหวัดกระบี่ครั้งนี้ จึงเป็นโมเดลการขับเคลื่อนการอบรมครูที่จะขยายผลไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศ ให้มีความรู้ในการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่ เพื่อนำไปสู่การใช้กระบวนการพีแอลซี หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ครูมืออาชีพ ที่จะมีการแลกเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการปฏิบัติซึ่งกันและกัน ซึ่งเมื่อครูเข้าใจและปฏิบัติตามวิธีการนี้ได้ สุดท้ายผลก็จะเกิดกับเด็กอย่างแน่นอน
“หลักสูตรของประเทศไทยปรับมา 10 ปีแล้ว โดยนำมาตรฐานมาเป็นตัวชี้วัดหรือเป้าหมายการเรียนรู้ของนักเรียน เป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน คือกำหนดให้เด็กต้องคิดอะไร ทำอะไร แก้ปัญหาอะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องลงมือปฏิบัติทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัติเมื่อครูนำมาใช้ก็ยังสอนวิธีการแบบเดิม ที่เป็นการเรียนรู้แบบพาสซีฟเลิร์นนิ่ง หรือการเรียนรู้แบบตั้งรับ ที่เด็กนั่งฟังเหมือนเดิมครูบรรยายหรือบอกเล่าเหมือนเดิม ซึ่งไม่ทำให้เกิดการเรียนเปลี่ยนแปลง เด็กก็ยังไม่สามารถเรียนรู้ในระดับหลักการได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของครู
และจากการที่ผมได้ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) และได้ลงไปรับฟังความเห็นในพื้นที่ก็พบว่า ครูเก่งการสอนมากขึ้น ค้นคว้าหาเนื้อหามาสอนเด็กมากขึ้น แต่เด็กกลับรู้น้อยกว่าเดิม เพราะครูไม่เข้าใจเป้าหมายของการเรียนรู้ดังกล่าว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการสร้างความเข้าใจ ซึ่งผมมั่นใจว่าถ้าครูเข้าใจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน เรื่องนี้เหมือนเส้นผมบังภูเขา ถ้าเอาเส้นผมนั้นออกไปได้เราจะเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงแน่นอน”ดร.ศักดิ์สิน กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ