ปูดอีกเอกสารโอนเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กว่า 30 ล้านบาท ปี 51 และปี 53 ล่องหน! “บุญรักษ์” สั่งตรวจสอบทุกกองทุนใน สพฐ.โดยเฉพาะกองทุนส่งเสริมฯ คนพิการมีงบฯ กว่าหมื่นล้าน-กองทุนอาหารกลางวัน เร่งเช็คตัวเลขเด็กซ้ำซ้อน ซ้ำกับใคร-เด็กอยู่ที่ไหน เชื่อไม่มากถึงแสนคน
ตามที่กลุ่มตรวจสอบภายใน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.)ได้ตรวจพบการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โดยมีการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกว่า 88 ล้านบาท และได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด พร้อมกันนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้สั่งการให้มีการสำรวจกองทุนทุกกองทุนใน ศธ. รวมถึงการสำรวจตัวเลขเด็กซ้ำซ้อนในการโอนเงินอุดหนุนรายหัว และล่าสุดสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)ได้ขอหลักฐานเพื่อดำเนินการอายัดทรัพย์กลุ่มบุคคลดังกล่าวนั้น
วันที่ 19 มี.ค.2561 ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้ไปตรวจสอบทุกกองทุนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่ามีการใช้จ่ายและอนุมัติงบฯอย่างไร ซึ่งขณะนี้ สพฐ.มีกองทุนใหญ่ๆ อยู่ไม่กี่กองทุน โดยเฉพาะกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จำนวนเงินกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งมีการบริหารโดยคณะกรรมการจากภายนอก สพฐ. แต่ตนก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะหลังจากที่คณะกรรมการอนุมัติโครงการต่างๆ แล้ว ตนจะต้องเป็นคนเซ็นอนุมัติ และถึงแม้จะมีความเชื่อมั่นในคณะกรรมการ แต่ด้วยความห่วงใย สพฐ. จะต้องมีการตรวจทานเพื่อให้เกิดความมั่นใจ นอกจากนี้ ยังมีกองทุนอาหารกลางวัน ซึ่งมี ปลัด ศธ.เป็นประธาน และ สพฐ. เป็นฝ่ายเลขานุการกองทุน ซึ่งตนก็จะต้องช่วยดูแลหลังการเบิกจ่ายด้วยว่าเป็นมาเป็นไปอย่างไร
ดร.บุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องการสำรวจตัวเลขเด็กซ้ำซ้อนนั้น ต้องขอเวลาศึกษาข้อมูลก่อน เพราะในพื้นที่ปกติเงินอุดหนุนรายหัว สพฐ.มีตัวเลขและมีข้อมูลชัดเจน แต่ที่มีปัญหา คือพื้นที่ที่ไม่ปกติ ซึ่ง สพฐ.ยังเข้าไปไม่ถึง เช่น พื้นที่สูงที่อยู่ห่างไกล พื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่ และพื้นที่เสี่ยง ซึ่งอาจจะมีอะไรซ้ำซ้อน เช่น เรื่องการเมือง หรือเรื่องความมั่นคง เป็นต้น ต้องขอเวลาสำรวจ อย่างไรก็ตาม สพฐ. มีการตรวจสอบตลอด อาจจะมีตัวเลขเคลื่อนบ้าง แต่ก็ไม่มากถึงแสนคน ต้องไปดูว่าใครซ้ำซ้อนกับใคร ตัวเด็กอยู่ที่ไหน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) สพฐ. ได้รายงานว่าโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ สังกัด สศศ. มีครูและลูกจ้างชั่วคราวได้รับเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต จำนวน 53 คน ในโรงเรียน 41 แห่ง ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าในปีงบประมาณ 2560 ลูกจ้างชั่วคราวส่วนใหญ่ ได้รับเงินล่าช้า และลูกจ้างชั่วคราว 7 รายใน 53 รายบางปีไม่มีการโอนเงิน
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการบันทึกบัญชีในระบบ GFMIS พบว่ามีการโอนเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต แต่ไม่ปรากฏเอกสารประกอบการเบิกจ่ายกว่า 30 ล้านบาท ดังนี้ ปี 2551 มีการโอนเงินจากบัญชี 059-2-04067-4 จำนวน 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 มีการโอนเมื่อวันที่ 12 มี.ค.2551จำนวนเงินโอน 7,567,157,00 บาท ครั้งที่ 2 มีการโอนเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2551 จำนวนเงินโอน 8,157,165,00 บาท และครั้งที่ 3 มีการโอนเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2551 จำนวนเงินโอน3,275,828,00 บาท ซึ่งรวมเป็นจำนวนเงินกว่า 18 ล้านบาท
และปี 2553 มีการโอนเงินจากบัญชี 059-1-33725-8 จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 มีการโอนเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2553 จำนวนเงินโอน 9,562,684,00 บาท ครั้งที่ 2 มีการโอนเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2553 จำนวนเงินโอน 1,920,024,00 บาท รวมจำนวนเงิน 11,482,708,00 บาท ซึ่งในบัญชีได้ยืนยันโอนเงินแต่ไม่พบเอกสารว่าโอนเข้าบัญชีใคร ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังค้นหาอยู่ว่าเอกสารดังกล่าวหายไปไหน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีกองทุนที่มีวงเงินจำนวนมากในการดูแลของหน่วยงานต่าง ๆ ใน ศธ.ที่น่าจับตา ได้แก่ สำนักงานปลัด ศธ. มีกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กองทุนโครงการอาหารกลางวัน กองทุนสงเคราะห์, สพฐ. มีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, สำนักงานข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มี กองทุนเงินหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู, สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ และสำนักงานการอุดมศึกษา(สกอ.) มีกองทุนเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เป็นต้น
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ