ขยายศูนย์บริการลงทุนชายแดนใต้ ดึงกศน.-อาชีวะพัฒนาอาชีพ
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานลงนามความร่วมมือ 100 ที่ปรึกษา 100 วิสาหกิจชุมชน/OTOP ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน และเปิดศูนย์พัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ (Management Innovation Development Center: MIDC) ที่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีนโยบายและขับเคลื่อนให้มีศูนย์ประสานงานผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะใน จ.ปัตตานี และมีการตั้งศูนย์บริการการลงทุนและการประกอบการแบบศูนย์รวมที่ปรึกษา ณ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก จ.ปัตตานี หลังตั้งศูนย์กว่า 1 เดือน พบว่ามีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศจำนวนหนึ่ง สนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้น เช่น มีการนำผลไม้ตามฤดูกาลในพื้นที่ไปจำหน่ายยังตลาดส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน บางรายมีการติดตั้งสำนักงานบริการ GPS ระบบคมนาคมติดตามรถบรรทุก และระบบอื่น ๆ เป็นต้น
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มโอท็อปในพื้นที่ ยังมีความต้องการคำแนะนำอีกมาก จึงได้ขยายความร่วมมือโดยเชิญชวนนักธุรกิจและข้าราชการที่มีความรู้เรื่องธุรกิจ มารวมตัวกันแบบจิตอาสาเพื่อให้คำปรึกษา มาขึ้นทะเบียนที่ศูนย์ MIDC ม.อ.เพื่อเป็นแหล่งรวมที่ปรึกษา และที่รับคำร้องขอในการช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มโอท็อปในพื้นที่ต่อไป
นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังมีการขับเคลื่อนให้สำนักงาน กศน.และอาชีวศึกษา ได้ช่วยกันพัฒนาอาชีพให้เกิดนวัตกรรม โดยมีสถาบันการศึกษา 18 แห่ง, กศน.อําเภอ 44 อําเภอ ร่วมมือกัน เพื่อพบประชาชนที่มีความคิดจะพัฒนาสินค้าตนเอง แต่ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ โดย กศน.ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานมาที่สถาบันอาชีวศึกษาซึ่งมีเครื่องมือมีอุปกรณ์ มีอาจารย์และนักศึกษา ที่สามารถช่วยในการผลิตประกอบต้นแบบ หรือนวัตกรรมตามแนวคิดของประชาชนได้
อย่างไรก็ตาม มีการจัดงานแสดงสินค้าและนวัตกรรม ที่ กศน.และอาชีวศึกษา ร่วมกันจัดขึ้นที่ ม.อ.ปัตตานี ช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าชมเลือกซื้อหรือเจรจาทางธุรกิจได้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ