สพฐ.-ป.ป.ช.กำหนดมาตรการป้องกันแป๊ะเจี๊ยะนักเรียน
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเรียกรับเงิน “แป๊ะเจี๊ยะ” ของโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ซึ่งจะเปิดรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นต่าง ๆ ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ในเดือนมี.ค.นี้
และเมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. ประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา ได้เปิดเผยภายหลัง การประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศธ. มท.และ สพฐ. ว่าแม้ว่าการเรียกรับหรือยอมจะรับแป๊ะเจี๊ยะ จะเป็นความสมยอมกันระหว่างพ่อแม่หรือผู้ปกครอง กับผู้มีอำนาจสถานศึกษา เพื่อให้บุตรหลานของตนได้เข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง หรือโรงเรียนยอดนิยมที่มีอัตราการแข่งขันสูง เพราะผู้ปกครองมีความเชื่อว่าคุณภาพทางการศึกษาของแต่ละสถานศึกษามีความแตกต่างกัน จึงพยายามหาช่องทางเพื่อให้บุตรหลานได้เข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพที่ดีกว่าที่อื่น
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นช่องว่าง หรือช่องทางให้เจ้าพนักงานของรัฐ หรือบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรับนักเรียนเข้า เรียนระดับต่าง ๆ มีโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งในรูปแบบของการเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดรวมถึงเงินบริจาคให้กับสถานศึกษาหรือสมาคมที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือมีเงื่อนไขผูกพันที่จะให้ประโยชน์ต่อผู้ใดโดยเฉพาะ มิใช่ความหมายของการบริจาคที่แท้จริง และสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นกรณีของการรับ “สินบน” สอดคล้องกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อปี 2550 ซึ่งเคยวินิจฉัยคดีว่า “เงินบริจาค” หมายถึงเงินที่ได้โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ แต่หากเป็นการให้เงินเพื่อตอบแทนการกระทำการใด ๆ จึงเป็นเงื่อนไขต่างตอบแทนไม่อาจถือเป็นเงินบริจาคได้ เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานรับสินบนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งในกรณีความผิดเกี่ยวกับสินบนประมวลกฎหมายอาญา ได้กำหนดความผิดกับผู้ให้สินบนไว้ด้วยเช่นกัน โดยผู้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้จะมี “ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา144 แล้วยังมีความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.ด้วย ดังนั้น ผู้ปกครองนักเรียนพึงระวังที่จะให้สินบนเพื่อแลกกับที่นั่งนักเรียน
ด้าน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.มีนโยบายตั้งแต่ต้นแล้วว่าไม่ให้โรงเรียนรับเงินบริจาคระหว่างที่มีการรับนักเรียนอยู่แล้ว แต่หลังจากที่การรับนักเรียนเสร็จสิ้นแล้วจะหารือ ป.ป.ช.เพื่อศึกษากฎหมายก่อนว่าโรงเรียนจะสามารถระดมทรัพยากรได้หรือไม่ แค่ไหน หรือโรงเรียนจะต้องปฏิบัติอย่างไร
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ