อาชีวะ-กรมราชทัณฑ์-การยาง สร้างโอกาส..สร้างอาชีพผู้ต้องขัง
การฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้ผู้ต้องขังเกิดทักษะความรู้ ประสบการณ์ มีแนวทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง และสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ ภายหลังจากพ้นโทษ โดยการฝึกวิชาชีพของผู้ต้องขังปัจจุบันจะแบ่งการฝึกอาชีพในระบบโรงงาน การฝึกอาชีพงานบริการ การฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น เน้นกระบวนการฝึกอาชีพ (Trianing) พร้อมสร้างอาชีพตามความสนใจของผู้เข้ารับการอบรม และการฝึกวิชาชีพการเกษตร
นอกจากการฝึกวิชาชีพในระดับเบื้องต้นตามที่กล่าวมาแล้ว ส่วนฝึกวิชาชีพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยังได้เน้นให้เกิดการยกระดับฝีมือและพัฒนาการฝึกวิชาชีพขึ้น โดยจัดให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานวิชาชีพช่างไม้เครื่องเรือน การจัดการประกวดผลิตภัณฑ์จากการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง และการจัดการแข่งขันทักษะฝีมือผู้ต้องขัง ในงานนิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์เป็นประจำทุกปี…ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือให้เป็นมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับของสังคมภายนอกด้วย
และเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้จัดให้มีการลงนามความร่วมมือว่าด้วยเรื่อง “การจัดการศึกษาและพัฒนาอาชีพด้านอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังในเรือนจำ” กับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขัง
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ.มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน และส่งเสริมการฝึกอบรมด้านวิชาชีพ โดยคำนึงถึงคุณภาพและความเป็นเลิศทางวิชาชีพ โดยได้จัดการเรียนการสอนทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น และระบบทวิภาคี จะทำหน้าที่สนับสนุนสื่อการเรียนการสอน ฝึกสอนอาชีพดูแลจนผู้เข้ารับการอบรมสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยทั้งสามหน่วยงาน จะร่วมกันพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังในเรือนจำ
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ มีนโยบายในการแก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง โดยส่งเสริมให้เรือนจำ/ทัณฑสถานทั่วประเทศ ดำเนินการจัดฝึกอบรมวิชาชีพสาขาต่างๆ ให้แก่ผู้ต้องขัง ซึ่งความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานนี้จะพยายามสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขัง เพื่อหาทางสว่างให้กับพวกเขา ซึ่งมีผู้ต้องขังในเรือนจำหรือทัณฑสถาน ประมาณ 330,000 คน ใน 143 แห่งทั่วประเทศ
วันหนึ่งพวกเขาก็ต้องออกมาจากที่ต้องขัง ถ้าพวกเขาได้รับการแก้ไข ชี้แนะแนวทาง และได้รับการเปิดใจจากสังคม ก็ยังเป็นผู้ที่พอจะมีศักยภาพที่จะเป็นทรัพยากรมนุษย์ของสังคมไทยได้ต่อไป หลายคนที่ออกจากที่ต้องขัง เขาสำเร็จการศึกษาจากเรือนจำและนำไปต่อยอด มีงานทำเสียภาษีให้รัฐ เพราะฉะนั้นความพยายามของพวกเราในวันนี้ก็คือความพยายามที่จะเปิดทางสว่างให้กว้างขึ้น เมื่อผู้ต้องขังเหล่านี้ออกจากเรือนจำ ก็จะเผชิญกับทางสองแพ่ง ซึ่งหลาย ๆ ปีผ่านมาทางไปสู่สวรรค์ ทางสว่างค่อนข้างยาก ไปเคาะประตูบ้านบ้านไหนก็ไม่ต้อนรับ ไปสมัครงานบริษัทไหนก็ถูกปฏิเสธ เพราะมีประวัติ เขากลัวว่าจะไปลักขโมย จี้ปล้น ข่มขืนอีก ซึ่งก็เกิดเป็นปัญหาของสังคม เมื่อทางสวรรค์ไม่เปิดให้พวกเขาเหล่านี้ ก็จะไปทางที่เขาเคยชิน
“ความพยายามของกรมราชทัณฑ์ ก็คือความพยายามแก้ไขบุคคลเหล่านี้ซึ่งเป็นผู้ต้องขัง เมื่อยามที่เขาพ้นโทษออกมาให้ได้รับโอกาสจากสังคม ซึ่งทางอาชีวศึกษา ได้ให้ความร่วมมือตั้งแต่ปี 2549 เรื่อยมา ทำเรื่องการขยายโอกาส การจัดการศึกษา การฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งในแต่ละปีเรามีผู้ต้องขัง ที่เรียนจบทั้งระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวนหลายร้อยคน”
พยายามสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขัง เพื่อหาทางสว่างให้กับพวกเขา
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามปีนี้ กรมราชทัณฑ์ ได้มีโครงการความร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมด้วย ในการที่จะสนองนโยบายรัฐบาลด้วยในราคายางตกต่ำ ประกอบกับกระทรวงยุติธรรม ก็มีนโยบายปรับเปลี่ยนเรื่องที่นอนให้กับผู้ต้องขังแทนที่นอนเดิม ที่เกิดปัญหาในเรื่องของการซุกซ่อนยา โทรศัพท์ หรือสิ่งของต้องห้ามต่างๆ หากได้รับการสนับสนุนจากการยางฯ และรัฐบาลผลิตที่นอนยางให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งไม่สามารถซุกซ่อนสิ่งของต้องห้ามได้ก็จะตรงกับวัตถุประสงค์
ผู้ต้องขังที่จะได้รับการคัดเลือกเข้ามาฝึกอาชีพ จะเป็นผู้ต้องขังชั้นดีได้รับการลดโทษเหลือน้อย มีความประพฤติดีไม่ทำผิดวินัยและเป็นคดีที่ไม่รุนแรง ซึ่งเรือนจำที่เข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพทั่วประเทศ มีจำนวน 66 แห่ง เพราะบางแห่งเป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงสูงมีผู้ต้องขังไม่มาก ซึ่งนักโทษที่เข้ารับการฝึกอาชีพมีอยู่ประมาณ 600 คน
ด้านนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวว่า ทางการยางฯ จะส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาอาชีพด้านยางพารา ให้แก่ผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ ในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ในการฝึกอาชีพ การจัดหาน้ำยางสดที่มีคุณภาพจากกลุ่มเกษตรกร เพื่อผลิตที่นอนยางพาราและถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำที่นอนยางพาราอย่างครบวงจร
อย่างไรก็ตาม นายสุเทพ ชิตยวงษ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานว่า จะร่วมกันกำหนดวิธีการติดตามและประเมินผล เพื่อแสดงถึงความตั้งใจในการดำเนินการ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้รับการศึกษาด้านวิชาชีพ ช่วยกันปรับปรุงแก้ไขปัญหา อุปสรรค ฟื้นฟู พัฒนา รวมทั้งพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังในเรือนจำอย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรม เสริมสร้างชีวิตที่ดีให้แก่กันในการ “คืนคนดี มีคุณค่า สู่สังคม” ตามนโยบายของรัฐบาล สร้างเสริมชีวิตและสังคม ชุมชน ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น
——————
@ วารินทร์ พรหมคุณ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ