อนุฯกอปศ.แลกเปลี่ยน 8 รร.ต้นแบบการบริหารจัดการศึกษาอย่างอิสระ ขออิสระวิชาการเลิกตัดเสื้อโหล-งบฯ ไม่บีบรัด แยกวงจาก สพฐ. เป็น รร.นิติบุคคลภายใต้กำกับของ ศธ.
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ประธานอนุกรรมการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานทางการศึกษา และคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยว่า จากการที่ได้เชิญ ผอ.โรงเรียน 8 แห่ง ซึ่งประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการศึกษาอย่างอิสระ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อถอดบทเรียน ใช้เป็นแนวทางจัดทำข้อเสนอการบริหารจัดการโรงเรียนในกำกับของรัฐ (รร.นิติบุคคล) ที่มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ มีอิสระในการบริหาร 4 ด้าน คือ บุคคล, วิชาการ, งบประมาณ และงานทั่วไป
โดยเห็นตรงกันว่าโรงเรียนควรมีอิสระแต่ไม่ใช่แบบสุดโต่ง ไม่จำเป็นต้องอิสระทั้ง 4 ด้าน อาจเน้นด้านใดด้านหนึ่ง และยังต้องการสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้ของบฯ ใดเพิ่ม ขอเพียงกระบวนการทำงานที่อิสระจริง และอยู่ภายใต้กำกับของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) แทนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งการที่โรงเรียนมีอิสระในการบริหารนั้น สอดคล้องกับความเห็นที่ กอปศ.จัดประชุม 4 ภูมิภาค และข้อเสนอของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่าโรงเรียนต้องมีการบริหารเป็นอิสระและยังเป็นหน่วยงานของรัฐ
“ทั้ง 8 โรงเรียนมีข้อคิดเห็นหลากหลาย ตั้งแต่โรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 60 คน ไปจนถึงโรงเรียนขนาดใหญ่ นักเรียน 2,300 คน แต่สามารถบริหารจัดการโรงเรียนได้อิสระ ภายใต้ข้อจำกัดทั้งทรัพยากร งบฯ และการปฏิบัตินโยบาย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนเหล่านี้ประสบความสำเร็จ คือ การสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมตรวจสอบและคัดกรองนโยบายส่วนกลางสู่โรงเรียนนับพันโครงการ ซึ่งสะท้อนว่าส่วนกลางส่งนโยบายถี่เกินไป นอกจากนี้ผู้บริหารก็ต้องมีภาวะผู้นำ กล้าคิด ตัดสินใจจึงจะเกิดความสำเร็จ”
นพ.เฉลิมชัย กล่าวและว่า โรงเรียนต้องการความอิสระมากที่สุด คือ อิสระด้านวิชาการ สามารถเลือกตำราเรียน กำหนดชั่วโมงการสอนตามภูมิสังคมโดยไม่กระทบกับหลักสูตรแกนกลาง รวมถึงอิสระด้านงบฯ ระเบียบที่ยืดหยุ่นผ่อนคลายไม่บีบรัดเกินไป หรือกำหนดให้ต้องทำแบบเสื้อโหล และต้องการอิสระในการคัดเลือกครู การพิจารณาความดีความชอบ วิทยฐานะที่มุ่งเรื่องขวัญกำลังใจไม่ผูกกับเรื่องคุณภาพ ซึ่งตรงนี้จะต้องหารือให้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลต่างๆ จะนำไปสู่การจัดหลักเกณฑ์ยืดหยุ่น เพื่อรองรับโรงเรียนในกำกับของรัฐให้ชัดเจนเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนอื่นๆ ที่มีความจำเป็นที่ต้องบริหารงานอย่างมีอิสระ ซึ่งข้อเสนอของ กอปศ.ไม่ใช่การบังคับ แต่เน้นความสมัครใจ ซึ่งโรงเรียนต้องหารือกับครู บุคลากร ผู้ปกครองและชุมชน ขณะเดียวกันโรงเรียนต้องรับผิดรับชอบด้วยว่า ถ้าเป็นโรงเรียนในกำกับจะสามารถพัฒนาได้มีประสิทธิภาพได้อย่างที่เสนออย่างไร
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวว่าการดำเนินการเรื่องนี้ให้คำนึงถึงโรงเรียนที่มีความจำเป็น ต้องได้รับการดูแลพัฒนา แต่ที่ผ่านมาติดขัดระเบียบราชการ ฉะนั้นโรงเรียนที่จะเป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐ จะมีทั้งกลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมและต้องส่งเสริมให้ไปสู่คุณภาพที่สูงขึ้น มาตรฐานสากล กลุ่มโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดเล็กพื้นที่ทุรกันดารชายขอบ ซึ่งอาจใช้วิธีการรวมกลุ่ม เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก 5 แห่ง ที่ดอยอ่างขาง คาดว่าจะเริ่มนำร่องในปีการศึกษา 2561 โดยใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ดำเนินการควบคู่ไปกับการยกร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนในกำกับของรัฐ พ.ศ.(…) เพื่อรองรับในระยะยาว ซึ่งตามกระบวนการต้องใช้เวลาประมาณ1ปี
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ