จับมือ พม.ส่งเสริมทักษะอาชีพ-การมีงานทำของเด็กพิการ
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงแนวทางส่งเสริมการมีงานทำของเด็กพิการ ว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ร่วมกับสถานประกอบการ ภาคเอกชน โรงเรียนเพื่อคนพิการ รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเตรียมเด็กพิการที่เรียนอยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ได้มีความรู้ทักษะวิชาชีพ ซึ่งนอกจากทักษะความรู้วิชาสามัญพื้นฐาน เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้ภายหลังเรียนจบจากโรงเรียน เราต้องเตรียมการเพื่อให้เด็กมีทักษะพื้นฐานงานอาชีพก่อนที่จะจบออกไป เพราะนักเรียน ม.ปลาย เริ่มค้นพบแล้วว่าตัวเองมีความถนัดอาชีพอะไร เราก็ต้องช่วยเหลือเตรียมความพร้อมให้
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่พบก่อนหน้านี้ คือ แม้เราจะฝึกให้เด็กมีทักษะอาชีพติดตัวแล้ว แต่เมื่อเด็กเรียนจบก็ยังพบว่า เด็กไม่รู้ว่าจะต้องไปทำงานอะไร ที่ไหน ถ้าเราไม่ได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการที่มีเมตตาจิตรับเด็กพิการไปทำงานโครงการ ก็คงไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถือเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่มีผู้ประกอบการ ทั้งห้าง ร้าน โรงแรม หรือร้านอาหาร กว่า 30 แห่ง เห็นความสำคัญและเปิดโอกาสรับเด็กพิการ ไปทำงานแต่ก่อนที่จะรับเด็กไปทำงาน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จและเป็นความดีงามที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นมิติที่สังคมควรรับรู้ โดยเฉพาะสิ่งที่อยากให้ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานพิการด้านใดด้านหนึ่งรับรู้ด้วยว่า สังคมของเรายินดีดูแลลูกหลานของท่านตั้งแต่เรียน จบแล้วมีงานทำ จึงอยากให้ผู้ปกครองกล้าที่จะก้าวออกมาให้พวกเราดูแล และขอให้มั่นใจว่าทั้งภาครัฐและเอกชนพร้อมที่จะดูแลลูกหลานของท่าน
“นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายชัดเจนเรื่องการดูแลการศึกษาพิเศษว่า ต้องให้คำจำกัดความให้ชัดเจนว่า เราจะดูแลเด็กแต่ละประเภทอย่างไร และได้มอบให้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เร่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและให้คำเสนอแนะการปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรที่จะดูแลเด็กพิการโดยเฉพาะให้มีความชัดเจน ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะเป็นองค์กรที่มีความอิสระ และมีสถานะที่จะทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่ง สพฐ.ก็เห็นด้วยที่จะให้มีหน่วยงานดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ส่วนเรื่องเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเช่นกัน แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการ ผมจึงมอบหมายให้นางสุกัญญา งามบรรจง รองเลขาธิการ กพฐ.ไปดูข้อกฎหมาย เพื่อเตรียมเสนอต่อ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเด็กที่มีความสามารถพิเศษ” ดร.บุญรักษ์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ