สกศ.สำรวจเด็กไม่มีสัญชาติเรียนในไทย ทำฐานข้อมูล-จัดรูปแบบที่เหมาะสม/ขยายโอกาสการศึกษาเท่าเทียม
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้ประกาศเรื่องการรับนักเรียน นักศึกษา ที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์ หรือไม่มีสัญชาติไทยให้เข้าเรียนตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยหลักฐานการรับนักเรียน นักศึกษา เข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 และเมื่อวันที่ 19 ม.ค.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงนามประกาศกรณีผู้มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ หรือเดินทางไป-กลับ บริเวณชายแดน หรือเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนให้สถานศึกษากำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนตามที่ต้นสังกัดกำหนด(G, P หรืออื่นๆ) เนื่องจากประกาศฉบับเดิมใช้มาตั้งแต่ปี 2548 และมีบางประเด็นที่ต้องทำให้ชัดเจนขึ้น ประกอบกับรัฐบาลจะทำฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า
ดังนั้น การเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือต้องทำฐานข้อมูลของนักเรียนให้ชัดเจน ทั้งนักเรียนปกติ และนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ หรือนักเรียนที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นนโยบายของ ศธ.ที่จะให้โอกาสเด็กทุกคนได้เรียนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสภาพการจัดการศึกษา ของโรงเรียนกลุ่มดังกล่าวในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่ามีเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 2 แบบ คือ กลุ่มเด็กไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์ หรือไม่มีสัญชาติไทย ที่ตามพ่อแม่มาทำงานและอาศัยอยู่ในไทย และกลุ่มเด็กที่เดินทางมาเรียนแบบไปกลับระหว่าง จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา มาเรียนที่แม่สอด
นอกจากนี้ยังพบว่ามีเด็กกว่าหมื่นคนได้เข้าเรียนกับศูนย์การเรียนขององค์กรเอกชน ที่ตั้งกระจายอยู่ 59 ศูนย์ และมีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในวัยเรียนที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาทำงาน แต่ไม่ได้เรียนหนังสือ>
“ขณะนี้มีการเคลื่อนย้ายประชากรเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะประเทศไหนเข้ามาก็จะได้รับสิทธิเข้าเรียนทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตั้งแต่ปี 2535 ครอบคลุม 4 เรื่อง คือ สิทธิในการอยู่รอด, สิทธิในการปกป้อง คุ้มครอง, สิทธิในการได้รับการดูแลและพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม โดยในส่วนของการศึกษา จะอยู่ที่สิทธิในการได้รับการดูแลและพัฒนา ซึ่งเด็กทุกคนที่เข้ามาเรียนในประเทศไทย จะได้รับสิทธิเหมือนเด็กไทยทุกประการ ตามมาตรฐานการศึกษาของไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งตัวเด็ก ที่จะรับการศึกษาที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และประเทศไทยก็จะได้คนที่มีคุณภาพมาทำงาน รวมถึงสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย”
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า จากตัวเลขเบื้องต้น เห็นว่าต้องมีการปรับกระบวนการจัดการศึกษาใหญ่มาก เช่น ในพื้นที่ อ.แม่สอด มีเด็กไม่ได้เรียนหนังสือ กับเด็กที่เรียนอยู่ในศูนย์การเรียนของเอกชนหมื่นกว่าคน ถ้าส่งให้เรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.หรือให้ศูนย์ กศน. รับไปทันทีอาจจะมีปัญหา เราต้องคิดรูปแบบที่เหมาะสม และดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะขณะนี้อยู่ในจังหวะที่รัฐบาลปรับพื้นที่ชายแดนให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
อย่างไรก็ตาม สกศ.จะรวบรวมข้อมูลเพื่อทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา ว่าจากสภาพปัจจุบันถ้าจะทำให้ได้ตามนโยบายของ ศธ.ที่ให้โอกาสเด็กทุกคนได้เรียนจะทำอย่างไร เช่น การลงทะเบียนเด็กทุกคน เพื่อใส่ในฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าของ ศธ.ทำยังไง จะมีรูปแบบในการที่จะจัดโอกาสและขยายโอกาสทางการศึกษาสำหรับแต่ละกลุ่มนี้อย่างไร และจะมั่นใจในเชิงมาตรฐานคุณภาพอย่างไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องร่วมมือกันในหลายหน่วยงาน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ