สพฐ.เปิดช่องขยายห้องเรียนรร.ดัง แก้ปัญหาช่วงเปลี่ยนผ่าน กำหนดจำนวนรับนักเรียน40คนต่อห้องในปีแรก
วันที่ 19 ก.พ.2561 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวตอนหนึ่งในการสัมมนาการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2561 โดยมี ผอ.โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ระดับประถมและมัธยมจำนวน300กว่าแห่งเข้าร่วม ว่าตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประกาศแนวทางการรับนักเรียนปีการศึกษา 2561 ของโรงเรียนในสังกัด โดยกำหนดนักเรียนต่อห้องประถมและมัธยม40คนต่อห้อง นั้นได้สร้างความกังวลใจแก่ผู้ปกครองและนักเรียนระดับชั้น ม.3 อย่างมากว่าจะไม่ได้เรียนต่อ ม.4 ในโรงเรียนเดิม
ซึ่งนโยบายนี้แบ่งออกเป็น 2 มิติ คือ เชิงวิชาการ การกำหนดจำนวนรับนักเรียน 40 คนต่อห้อง ได้รับความชื่นชมจากสังคมโดยเฉพาะนักวิชาการและครู ซึ่งต้องการให้ลดจำนวนนักเรียน เพื่อคุณภาพทางวิชาการ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าพูดไม่ผิด แต่ในเชิงบริหาร ไม่สามารถตัดแบ่งเหมือนแบ่งเค้กได้ เพราะไม่มีข้อมูลความหนาแน่นของประชากรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งก็คาดการณ์ไว้แล้วตั้งแต่ต้นว่าจะมีปัญหา
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า การกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องปีนี้ เป็นความตั้งใจที่จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีของบอร์ด กพฐ. แต่มตินี้อาจทำให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งตนได้รับเรื่องร้องเรียนมาก ว่าเมื่อเด็กจะเลื่อนชั้นในโรงเรียนเดิม แต่บังคับให้เหลือ 40 คนต่อห้อง จะเอาเด็กไปไว้ตรงไหน ซึ่งตนอยากให้ทุกคนช่วยกันคิดหาทางออก
อย่างไรก็ดี การเสนอทางออกโรงเรียนมีหน้าที่ให้บริการสาธารณะ อะไรต้องทำให้เกิดความเรียบร้อยก็ต้องทำ แต่ต้องทำบนหลักการของความเป็นธรรมและความเหมาะสม ความทุกข์ร้อนของประชาชนไม่ควรยืดเยื้อ และเชื่อว่าบอร์ด กพฐ.จะรับฟังและช่วยแก้ปัญหา
“ผมได้หารือเรื่องนี้กับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งท่านได้ย้ำว่าอะไรที่ทำแล้วประชาชนไม่เดือดร้อน ก็ให้ทำต่อไปได้ ระเบียบเมื่อออกมาแล้วต้องทำให้ประชาชนมีความสุข ฉะนั้นถ้ามีปัญหาอะไรก็ให้ยืดหยุ่น แต่ต้องทำภายใต้หลักการ อย่างไรก็ตามเท่าที่คาดการณ์จะเป็นปัญหากับโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีอัตราแข่งขันสูงประมาณ 10% เท่านั้น ซึ่งจะแก้ปัญหาเฉพาะหลายโรงเป็นหลัก และเชื่อว่าหากจะมีการผ่อนผัน ก็น่าจะผ่อนผันเพียงปีนี้ปีเดียว ปีต่อไปโรงเรียนน่าจะแก้ไขปัญหาได้โดยทำแผนเสนอขยายห้องเรียนไว้ล่วงหน้า”
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ สพฐ.ย้ำมาตลอดไม่ให้มีการระดมทรัพยากรช่วงรับนักเรียน อย่าคิดว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะถ้าน้ำมาแรงอาจจมน้ำตาย เมื่อน้ำขึ้นขอให้รีบหลบ อย่าคิดว่าต้องได้เงินมาเพื่อบริหารโรงเรียน การระดมทรัพยากรแม้จะมีเจตนาบริสุทธิ์ก็ต้องทำในช่วงเวลาที่เหมาะสม อย่ากดดันประชาชน และอย่าหลีกเลี่ยงว่ารับไว้ก่อน แล้วค่อยมาออกใบเสร็จทีหลัง ซึ่งเป็นการผิดซ้ำซ้อน ส่วนเรื่องการสอบคัดเลือก จะมีบัญชีสำรอง กรณีเด็กสละสิทธิ์ ก็ขอให้เรียกตามลำดับเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ