มีแนวโน้มเพิ่ม สพม.จังหวัดละเขตภารกิจล้นมือ-สพฐ.เร่งศึกษาข้อมูล30วัน-ชงสภาการศึกษา
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ตั้งคณะทำงานหนึ่งชุด โดยมี นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการ กพฐ.เป็นประธาน เพื่อศึกษา เรื่องแยกเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ 42เขต ซึ่งคณะทำงานได้ทำการศึกษาและเก็บข้อมูลมาระยะหนึ่งแล้ว และเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สพฐ.จึงได้สอบถามไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)ด้วยว่า จังหวัดใดมีความจำเป็นควรแยกเขตพื้นที่มัธยมออกมาเป็นของจังหวัดตัวเอง ก็มีหลายเขตพื้นที่ฯมีเหตุผลซึ่ง สพฐ.ก็ได้รวบรวมไว้แล้ว
ทั้งนี้ เหตุผลและความจำเป็นหลัก เช่น การคมนาคมและบุคลากร ที่มองแล้วเป็นปัญหา เพราะหลาย สพม.ครอบคลุม 2-3จังหวัด การแต่งตั้งโยกย้ายต้องนำข้อมูลเข้าคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) ทำให้เกิดปัญหาการบริหารงานล่าช้า เพราะหลายครั้งที่ กศจ.หลายจังหวัดจัดประชุมพร้อมกัน ซึ่ง ผอ.สพม.ไม่สามารถเข้าประชุมพร้อมกันทุกจังหวัดได้ ดังนั้น ถ้าจะเร่งเรื่องคุณภาพ ก็ควรจะปลดภาระที่ไม่จำเป็นของเขตพื้นที่กับโรงเรียนออกไปโดยเฉพาะเรื่องของการเดินทาง เป็นต้น ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้คณะทำงานเร่งศึกษาข้อมูลให้เร็วที่สุดภายใน 30วัน
“ตอนแรกตั้งเป้าว่าจะให้มี สพม.ละหนึ่งเขต แต่ก็มีประเด็นว่าบางจังหวัดอาจมีปริมาณงานน้อยมาก เช่น จังหวัดภูเก็ต ที่มีโรงเรียนมัธยมศึกษาแค่ 4โรงเรียน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องฟังความเห็นจากเขตพื้นที่ โรงเรียน และสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ก่อนว่าปริมาณงานกับความจำเป็นด้านการบริหารควรเป็นอย่างไร เพราะนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีกี่ สพม.บอกแต่ว่าให้สามารถทำงานได้ โดยไม่เพิ่มคนและงบประมาณ นอกจากนี้หากมี สพม.จังหวัดละเขต ยังทำให้การเรียกชื่อ สพม.ง่ายขึ้นด้วย โดยจะเป็น สพม.ต่อท้ายด้วยจังหวัด ต่างจากปัจจุบันที่ต่อท้ายด้วยตัวเลข ซึ่งคนทั่วไปจะไม่ทราบว่า เลขนั้น ๆ ครอบคลุมจังหวัดใดบ้าง”
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ สพฐ.จะรวบรวมข้อมูลศึกษาเสนอต่อสภาการศึกษาให้พิจารณาและเสนอแนะไปยัง รมว.ศึกษาธิการ ต่อไป เพราะสพฐ.ไม่มีอำนาจในการเสนอแนะรัฐมนตรี
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ