</p>
สจล.ผนึกญี่ปุ่นเปิดสอนเตรียมเทคโนโลยี
ปั้นอาชีวะสู่ ยุววิศวกร
สจล.เปิดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อความยั่งยืน เตรียมเปิดโรงเรียนเตรียมเทคโนโลยี ด้วยการสร้างหลักสูตร “ยุววิศวกร” โดยใช้ต้นแบบของ KOSEN จากญี่ปุ่น เปิดรับนักเรียนจบชั้น ม.3 เข้าศึกษาต่อที่ สจล.ระยะเวลา 5 ปี เริ่มรับนักเรียนรุ่นแรก ปีการศึกษา 2561 ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแรงงาน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และรองรับ Thailand 4.0
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายแนวทางยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย แก่สภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ระบุว่าขณะนี้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เร่งดำเนินนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพบัณฑิตไทย ให้มีความรู้และความสามารถสอดรับความต้องการของประเทศ ซึ่งพบว่าขณะนี้ประเทศไทยยังขาดแคลนวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทักษะขั้นสูง ในหลายสาขา อาทิ วิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมอากาศยาน และวิศวกรรมด้านหุ่นยนต์สมองกล และ AI เป็นต้น
ดังนั้น สถาบันการศึกษาต้องพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับ เพื่อสร้างบุคลากรป้อนแก่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งหากมหาวิทยาลัยสามารถสร้างหลักสูตรได้ตรงกับความต้องการ จะได้รับการสนุนงบประมาณในการจัดการเรียนการสอน โดยกลุ่มเป้าหมายในการสนับสนุนการศึกษานั้น ไม่ได้จำกัดแค่สายสามัญ แต่ขณะนี้ได้เน้นให้ความสำคัญกับนักเรียนอาชีวศึกษาด้วย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สร้างรากฐานและความมั่นคงของประเทศ เพราะมีความรู้ทักษะและความเชี่ยวชาญที่ตรงกับสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ ซึ่งนอกจากสนับสนุนการเปิดหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้เรียนแล้ว จะเร่งผลักดันมาตรฐานเงินเดือนเช่นเดียวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัย และการเทียบประสบการณ์ความเชี่ยวชาญให้เป็นวุฒิการศึกษา ระดับปริญญาตรี โท และเอก เพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพอีกด้วย
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ของภาคการศึกษาไทยในขณะนี้ ไม่เพียงต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกันยังต้องวางแผนการผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ผู้เรียนนำความวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนไปเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและโรดแมปชาติ โดยสิ่งสำคัญแนวทางดังกล่าวต้องขยายผลให้ครอบคลุมนักเรียนทุกกลุ่ม ทั้งสายสามัญและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายอาชีวศึกษา
ซึ่งจากข้อมูล ศธ.พบว่าในปีการศึกษา 2559 มีสัดส่วนกว่า 7 แสนคน หรือครึ่งหนึ่งของนักเรียนสายสามัญ นักเรียนกลุ่มนี้จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการจบออกมา เป็นบุคลากรและกำลังช่วยให้ประเทศเจริญก้าวหน้า
ดังนั้น สจล.ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงดำเนินแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อความยั่งยืน ด้วยการเตรียมเปิดโรงเรียนเตรียมเทคโนโลยี พร้อมสร้างหลักสูตร “ยุววิศวกร” โดยใช้ต้นแบบของ KOSEN ประเทศญี่ปุ่น (KOSEN Vocational Demonstration School for 21th century) เปิดรับนักเรียนจบชั้น ม.3 เข้าศึกษาต่อที่ สจล. ระยะเวลา 5 ปี
โดยจะเริ่มเปิดรับนักเรียนรุ่นแรก ปีการศึกษา 2561 นำร่อง 1 สาขาวิชา จากนั้นจะเปิดเพิ่มอีก 4 สาขาวิชา ในปีการศึกษา 2562 รวมเป็น 5 สาขาวิชา สาขาวิชาละ 25 คน รวม 125 คน ได้แก่ 1.วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 2.วิศวกรรมไฟฟ้า 3.ช่างวิศวกรรม 4.วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ เกี่ยวกับระบบเครื่องกลอัตโนมัติ เช่น หุ่นยนต์ หรือแขนกลในงานอุตสาหกรรม และ 5.วิศวกรรมยานยนต์
ภายใต้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และกระทรวงแรงงาน เพื่อยกระดับการผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแรงงานใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสาขาที่รองรับการพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 เน้นกระบวนการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) การเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการวิจัย (Research-Based Learning) การบูรณาการความรู้ครอบคลุมด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM Education) และการร่วมฝึกปฏิบัติงานกับสถานประกอบการและภาคอุตสาหกรรมด้วย
“นอกจากหลักสูตรยุววิศวกรข้างต้นแล้ว สจล. ยังเปิดหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง แบบเทียบวุฒิความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทำงาน เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มพูนความรู้และคุณวุฒิที่สูงขึ้น และหลักสูตรพัฒนาบุคลากรครูเพื่อปฏิบัติการสอนตามรูปแบบ KOSEN ด้วย เป็นการตอกย้ำความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพนักเรียนอาชีวศึกษาครอบคลุมทุกด้าน ให้กลายเป็นบุคลากรหัวกะทิขับเคลื่อนประเทศไทยให้ยั่งยืน เนื่องจากมีความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน และมีคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งทำหน้าที่ผลิตครูอาชีวศึกษามาเกือบสี่ทศวรรษ มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ผลิตวิศวกรและบุคลากรภาคอุตสาหกรรมมากว่าห้าทศวรรษ สามารถยกระดับช่างเทคนิคให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญ ในการปฏิบัติงานและแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวและว่า สำหรับการยกคุณภาพระบบการศึกษาไทยในภาพรวมนั้น หลักสูตรการศึกษาจะต้องมีการเชื่อมโยงองค์ความรู้แขนงต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาที่ผู้เรียนต้องมีองค์ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญรอบด้าน ในการประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน ภายใต้การบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศ มีมุมมองที่กว้างไกล มีจินตนาการ และสามารถทำงานร่วมกับบุคลากรสาขาอาชีพอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับนักเรียน นักศึกษา สามารถติดตามหลักสูตรเพิ่มเติมที่ www.kmitl.ac.th
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ