วารินทร์ พรหมคุณ
บัวบานไม่รู้โรย…กายแข็งแรง หัวใจชื่นบาน
รร.ผู้สูงอายุ กศน.อำเภอเดชอุดม
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่มีผลต่อสังคมไทยอย่างมากนั่นคือ การมีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากจำนวนเด็กที่ลดลงในขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า จำนวนเด็กจะพอ ๆ กับผู้สูงอายุ และหลังจากนั้นจะเกิดปรากฏการณ์มีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก และสังคมไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ได้ร่วมกับ เทศบาลเมืองเดชอุดม จัดโครงการบัวบานไม่รู้โรย เปิดโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลเมืองเดชอุดม รวมตัวผู้สูงอายุให้ได้กลับมานักเรียนอีกครั้ง
นายอุกฤษฏ์ รินทรามี ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเดชอุดม กล่าวว่า ในอนาคตสังคมผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะเป็นปัญหาระดับประเทศและระดับโลก และจากงานวิจัยพบว่าผู้สูงอายุจะมี 3 แบบ คือ 1.ติดบ้านไม่ออกไปไหน 2.ป่วยติดเตียง และ 3.ติดสังคม ซึ่งผู้ที่ติดบ้านมีแนวโน้มป่วยติดเตียงจะมีอายุสั้น ดังนั้น จึงจัดกิจกรรมขึ้นมาเพื่อให้ผู้สูงอายุที่ติดบ้านออกมาสู่สังคม มีโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ยาวนานขึ้น ให้มาเรียนรู้การสร้างทักษะชีวิต โดยการจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้สูงอายุนั้น ใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ระดับประถมศึกษา พบกลุ่มสัปดาห์ละ 1 ครั้งๆ ละ 3 ชั่วโมง จะไม่เน้นสอนวิชาการ เน้นคุณภาพชีวิต เน้นการมีความสุข เพราะผู้สูงอายุแต่ละคนมีองค์ความรู้อยู่ในตนเองมาก ก็ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยมีครู กศน. เป็นผู้ดึงองค์ความรู้ที่มีอยู่ในแต่ละคน ออกมาถ่ายทอดซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าและภูมิใจในตัวเอง เมื่อเรียนจบก็จะได้รับวุฒิการศึกษาจาก กศน. และได้รับเกียรติบัตรจากเทศบาล
สำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งนี้ เริ่มเปิดสอนในปี 2560 กิจกรรมที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมาจากผลการประชาพิจารณ์ถามความเห็นจากผู้สูงอายุ ทั้งการแต่งเครื่องแบบนักเรียน และการเลือกวันพบกลุ่มที่ตกลงกันว่า จะมาพบกลุ่มกันทุกวันศุกร์ช่วงเช้า มีนักเรียนสูงอายุหมุนเวียนมาพบกลุ่ม 90-100 คนในทุกสัปดาห์ ซึ่งถือว่าได้ผลดี และบรรลุจุดประสงค์ที่อยากให้ผู้สูงอายุออกมาติดสังคมอีกครั้ง
ด้านนายสุริยา จันทะสิงห์ ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองเดชอุดม กล่าวว่า ในส่วนของเทศบาลเมืองเดชอุดม ที่ร่วมกับ กศน.อำเภอเดชอุดม ในการดูแลโรงเรียนผู้สูงอายุนั้น ที่จริงแล้วทางเทศบาลมีแนวคิดเริ่มต้นที่จะจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุอยู่แล้ว ประจวบเหมาะกับทาง กศน. มีแนวคิดที่จะสนับสนุนเรื่องการศึกษาผู้สูงอายุด้วย เราจึงมีการบูรณาการร่วมกัน โดยเทศบาลสนับสนุนเรื่องการจัดหาบุคลากร และจัดกิจกรรมร่วม สัปดาห์เว้นสัปดาห์ โดยกิจกรรมของเทศบาล จะเน้นเรื่องการความสนุกสนาน การมีส่วนร่วม การพบปะ ออกกำลังกายการส่งเสริมสุขภาพ เป็นหลัก ส่วนของ กศน.จะเน้นวิชาการเพื่อรับวุฒิบัตรตามการศึกษาของ กศน. ส่วนเทศบาลหลังจากจบการศึกษาแล้ว ก็จะมอบเกียรติบัตรให้
ทั้งนี้ ในอำเภอเดชอุดมมีผู้สูงอายุที่รับเบี้ยผู้สูงอายุ ในเขตเทศบาล ประมาณ 1,500 คน แต่ที่เข้ามาเรียนยังถือว่าเป็นส่วนน้อย มาด้วยความสมัครใจของผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ที่มาร่วมกิจกรรมอายุมากที่สุด อายุ 96 ปี เรียกว่ายังมีไฟที่จะมาร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และจากการสังเกตพฤติกรรมที่ผู้สูงอายุเข้าร่วมถือว่าดีมาก ทุกคนให้ความใส่ใจ และสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี รู้สึกได้ว่าทุกคนมีความสุขมาก
“หลายคนไม่ไปธุระที่อื่น พอถึงเวลาต้องมาโรงเรียนให้ได้ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้มีการแสดงออก และมีการพูดคุยกัน เอาความหลังมาคุยกัน เป็นความสุขของผู้สูงอายุ เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตส่วนหนึ่งทางด้านของจิตใจ ได้อย่างดีเยี่ยม” นายสุริยา กล่าว
ขณะที่นักเรียนสูงวัยอย่างคุณยายบังอร ทองใบ อายุ 85 ปี บอกว่ามาเรียนตามเพื่อนบ้าน ครั้งแรกที่ต้องใส่ชุดนักเรียนก็รู้สึกเขินๆ แต่ทุกคนใส่เหมือนกันหมด ก็สนุกดี รอให้ถึงวันศุกร์เร็วๆ อยากมาเรียน มานั่งคุยเล่าความหลัง ได้ฝึกคิดเรื่องใหม่ๆ มีความรู้เพิ่มขึ้น ที่สำคัญจะได้ไม่เป็นอัลไซเมอร์ และรู้สึกแข็งแรงขึ้น
คุณตาสมัย เจริญยุทธ อายุ 80 ปี บอกว่าการมาเรียนทำให้มีเพื่อนในช่วงวัยเดียวกันมากขึ้น ซึ่งตนตั้งใจว่าจะทำหนังสือรุ่นขึ้น เมื่อมีใครเจ็บป่วยก็จะได้ไปเยี่ยมและช่วยเหลือดูแลกัน
เช่นเดียวกับ คุณยายคำฝั่ง แสวงศรี บอกว่าเมื่อก่อนอยู่บ้านเป็นจิตอาสา แต่ก็มาป่วยเป็นน้ำท่วมปอด ติดเชื้อหมอบอกว่าอย่างมากอยู่ได้ไม่เกิน 6เดือน ก็คิดฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ แต่อยู่มาวันหนึ่งหมอ บอกว่าเขาจะตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ มีกิจกรรมทำมากมาย และจะพาไปกราบพระบรมศพพระบรมโกศในหลวงรัชกาลที่ 9 ใจอยากไปมาก คิดอย่างเดียวก่อนที่ตัวจะตายขอให้ได้มากราบ “พ่อ” สักครั้ง
“ตอนนั้นเดินไม่ค่อยได้ เป็นกระดูกผุด้วย รู้ตัวว่าร่างกายไม่ไหวแล้ว แต่ก็มาเรียนกับเพื่อนทุกวันศุกร์ พอมาถึงวันศุกร์ที่สาม ครูจัดงานวันเกิดให้ดีใจมาก เพราะเกิดมาไม่เคยได้กินเค้ก ดีใจมาก ยิ่งตอนที่ได้ไปกราบพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ลูกๆ ก็ห้ามว่าอย่าไปเลย หมอห้ามเดินไม่ให้เกิน 3 ชั่วโมง เพราะเรากระดูกผุ ก็ยกมือท่วมหัวอธิษฐานให้ไปได้ อย่าได้เป็นอะไรเลย เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ยืน 4 ชั่วโมง โดยไม่ได้นั่ง และเดินไปเหมือนคนอื่นๆ ใจก็อธิษฐาน อย่าให้เจ็บ อย่าให้เป็นอะไร เพราะตั้งใจมากราบพ่อ อย่าให้เป็นภาระของใคร ก็ได้ทำสำเร็จ
…จนถึงวันนี้ก็อยู่มาได้ ยังไม่ตาย…ทุกวันนี้คิดว่าการมาเรียน มาพบเพื่อน ได้หลาย ๆ อย่าง เพื่อนบางคนเห็นกันมาตั้งแต่เรียนประถม ก็ยังได้มาเจอหน้ากัน ชีวิตมีความสุขดี เป็นกำลังใจให้กัน ก็ต้องขอบคุณ กศน. และเทศบาลอำเภอเดชอุดม ที่ทำให้พวกเรามาเจอกันในวันนี้” คุณยายคำฝั่ง บอกอย่างตื้นตันใจ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ