อธิการบดี ม.รามคำแหง ยืนยันจัดการศึกษามีมาตรฐานและคุณภาพ ข้อมูลที่ สกอ.เปิดเผยคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ติง สกอ.ควรรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันการศึกษา
ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ได้ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านการประเมินคุณภาพของสถาบันการศึกษาต่างๆ จำนวน 182 หลักสูตร จากทั้งหมด 9,099 หลักสูตร ซึ่งระบุว่า เป็นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) ถึงจำนวน 40 หลักสูตรนั้น
ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี ม.ร.และคณะผู้บริหาร เปิดแถลงกรณีดังกล่าวว่า ข้อมูลที่ สกอ.เปิดเผยนั้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียงเป็นอย่างมาก เพราะจำนวนหลักสูตรที่กล่าวถึงเป็นข้อมูลเก่าที่มหาวิทยาลัย “ปิดหลักสูตร” ไปแล้ว 23 หลักสูตร หลักสูตรที่ไม่เคยเปิดรับนักศึกษา จำนวน 1 หลักสูตร หลักสูตรที่ “งดรับนักศึกษา” ในปีการศึกษา 2560 จำนวน 6 หลักสูตร และปีการศึกษา 2561 จำนวน 1 หลักสูตร ส่วนหลักสูตรที่เหลือได้ดำเนินการปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ และส่ง สกอ.รับทราบแล้ว
ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน เนื่องจากจำนวนอาจารย์ประจำหลักสูตรไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เพราะมีอาจารย์บางท่านเกษียณอายุราชการ ย้ายสังกัด หรือลาศึกษาต่อ ซึ่งขณะนี้ ม.ร.ได้เปิดรับอาจารย์ประจำหลักสูตรมาทดแทนแล้ว
ผลผลิตของรามคำแหง ยังเป็นที่ยอมรับจากสังคม ทั้งเรื่องการมีงานทำของบัณฑิต ความพึงพอใจของนายจ้างต่อคุณภาพบัณฑิต รวมทั้งผลงานทางวิชาการระดับชาติของอาจารย์
อธิการบดี ม.ร. กล่าวยืนยันว่า 46 ปีที่ผ่านมา ม.ร.จัดการศึกษามีมาตรฐานและมีคุณภาพ เห็นได้จากบัณฑิตที่ผลิตออกไปรับใช้สังคมจำนวนหลายแสนคนประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับจากนายจ้างในทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน จึงขอฝาก สกอ.ถึงเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนควรใช้ความระมัดระวัง รอบคอบ และตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน มิฉะนั้น จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสถาบันการศึกษาในภาพรวม อย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ