องค์การสหประชาชาติ ให้นิยาม “ผู้สูงอายุ” หมายถึงประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging soiety) เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ20 ของประชากรทั้งประเทศ และระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ
นับเป็นวิกฤติที่ทุกประเทศต้องเผชิญ ทั้งในด้านจำนวนแรงงานที่ลดลง ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านสังคมและเศรษฐกิจ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ทุกประเทศจึงตื่นตัวและจัดเตรียมรับมือกับวิกฤติการณ์ดังกล่าว รวมถึงประเทศไทย หลายหน่วยงานองค์กรรัฐและเอกชนเริ่มเตรียมรับมือกับสภาวะการณ์ดังกล่าว
อย่างที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ผศ.ดร.สาธร พรตระกูลพิพัฒน์ รอง ผอ.ฝ่ายวางแผนและประกันคุณภาพ สำนักบริการวิชาการ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักบริการวิชาการ มข.ได้จัดโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุและนวัตกรรม ภายใต้โครงการอำเภอ มข.พัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการเรียนรู้ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนเสริมสร้างสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาสู่นวัตกรรม ให้สามารถสร้างรายได้และเป็นประโยชน์แก่สังคม เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging soiety) ในประเทศไทย โดยจัดกิจกรรมในพื้นที่ ต.ขามป้อม และ ต.หนองแวง อ.พระยืน จ.ขอนแก่น รวมพื้นที่ครอบคลุมกว่า 20 หมู่บ้าน มีผู้สูงอายุสมัครเข้าโรงเรียนกว่า 270 คน
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายตามยุทธศาสตร์ที่ 3 Culture and Care Community คือเป็นองค์กรที่ดูแลห่วงใยใส่ใจสังคม ด้วยเล็งเห็นว่าประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลอย่างแท้จริง
“สำนักบริการวิชาการกำหนดชุมชนต้นแบบ 12 ชุมชน ในปีนี้มีกำหนด 6 ชุมชน โดยชุมชนขามป้อม และหนองแวงอำเภอพระยืน เป็นชุมชนเป้าหมาย ซึ่งอยู่ในโครงการอำเภอ มข.พัฒนา มีคณะศึกษาศาสตร์เป็นแกนนำหลักสูตร ผนวกนักวิชาการของ มข.มาให้ความรู้แกนนำในชุมชน เพื่อพยุงหลักสูตรให้เข้มแข็ง เมื่อเราทำสำเร็จเขาจะยังสามารถต่อยอดโรงเรียนผู้สูงอายุอยู่ได้อย่างยั่งยืน”
นายวิลัย มาป้อง อายุ 73 ปี ในฐานะ ผอ.โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลหนองแวง กล่าวว่า เมื่อสำรวจปัญหาพบว่าผู้สูงอายุในชุมชนเกิดอาการซึมเศร้า รู้สึกโดดเดี่ยว ก่อนเริ่มโครงการมีการตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้ผู้สูงอายุจำนวน 270 คน ทั้งนี้มีอายุเฉลี่ย 67 ปี อายุสูงสุด 88 ปี การจัดโครงการเพื่อผู้สูงอายุนับเป็นครั้งแรกของชุมชน ผู้สูงอายุมีความกระตือรือล้น อยากเข้าร่วมกิจกรรม และมีความสุขเป็นอย่างมาก
หลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุ มีระยะเวลา 10 เดือน เรียนวันศุกร์ละ 2 วันต่อเดือน รวม 20 วัน แบ่งเป็นความรู้ วิชาชีวิตร้อยละ 50
ประกอบด้วยวิชาสังคม ศาสนา ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การออกกำลังกายสันทนาการ วิชาชีพร้อยละ30 ประกอบด้วยวิชาเศรษฐกิจพอเพียง อาชีพและงานฝีมือ การจัดทำบัญชีครัวเรือน ดนตรีพื้นบ้าน และวิชาการร้อยละ 20 ประกอบด้วยวิชา กฎหมายและสิทธิผู้สูงอายุ ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยี เป็นต้น
ถือเป็นอีกองค์กรที่ตั้งรับและเตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนประชากรจะเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2563
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ