ทีมข่าวการศึกษา
เช็คอัพการศึกษา 2560
ครูลั้ลลาคูปองเงินหมื่น – คลื่นใต้น้ำอำนาจ ม.53
—————–
ปี 2560 นโยบายพัฒนาการศึกษาไทย ขับเคลื่อนด้วยมือหมอเคียงคู่ทหาร
โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ “รัฐมนตรีหัวนอก” เป็นผู้นำหัวขบวน พ่วงรัฐมนตรีช่วยทหาร พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ที่ปักหลักอาสาดูแลการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ และรัฐมนตรีช่วย ที่เกือบถูกลืม ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ก่อนจะถูกปลดระวาง ให้ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร เข้ารับหน้าที่แทน
ซึ่งตลอดปีงานการศึกษาของชาติ จะมีเรื่องดี เด่น ดัง อะไรบ้างเรามาดูกัน
ขอเท้าความถึงบทสัมภาษณ์ของ “หมอธี-นพ.ธีระเกียรติ” นิกเนมติดปากกระจิบข่าว ศธ. พูดไว้ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับที่ 10ปีที่ 65วันที่ 17-23พ.ย.2560 “เปิดใจ เสมา1-นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” ท่ามกลางกระแสข่าวปรับ “ครม.ประยุทธ์ 5”
“…ตลอดระยะเวลาของการทำงานในฐานะ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายเด่นสร้างผลงาน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ หรือ Boot Camp แก่ครูผู้สอนภาษาอังกฤษ, การพัฒนาครู มีการปรับเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ เพื่อลดปัญหาการทิ้งห้องเรียน ตัวผลงานเชิงประจักษ์ที่ผลการเรียนของนักเรียนเป็นตัวตั้ง, การศึกษาปฐมวัย ทำอย่างจริงจังเรื่องโรงเรียนไอซียู โรงเรียนแม่เหล็ก โรงเรียนคุณธรรม, นำการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มาช่วยครูสอน, ดูแลสวัสดิการคุณภาพชีวิตครู ให้ดีขึ้นเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ เช่น การซ่อมแซมบ้านพักครู แก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับธนาคารออมสิน
…ผมพูดได้เต็มปากอย่างหนึ่งว่า ผมบริหารงาน ศธ.ยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะตัดสินใจ และมีความเป็นธรรมมากที่สุด ยุคนี้ข้าราชการกล้าพูด และผมก็รับฟังในสิ่งที่เขาพูด นี่คือจุดแข็งของ ศธ.”
อย่างที่ “หมอธี” อวดผลงานเด่น “การพัฒนาครู” ซึ่งซื้อใจพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ได้โขอยู่ อย่างเรื่อง “เกณฑ์วิทยฐานะใหม่” ถูกประกาศใช้ เมื่อวันที่ 5ก.ค.2560 …หลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะรูปแบบใหม่นี้ จะใช้ตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงาน ที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ด้านการจัดการเรียนการสอนใน 3ด้านได้แก่ ด้านการจัดการเรียนการสอน, ด้านการบริหารจัดการชั้นเรียน และด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ
เปลี่ยนแปลงจากของเดิมอย่างสิ้นเชิง จากที่ครูมุ่งเขียนผลงาน เขียนตำราขอตำแหน่ง และค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ทำให้ใจไม่อยู่กับเด็ก ตัวไม่อยู่ในห้องเรียน ซ่ำร้ายเกิดขบวนการจ้างทำผลงาน เมื่อได้สมใจแล้วบางคนกลับขอย้ายไปที่ใหม่ ไม่อยู่ช่วยพัฒนานักเรียนโรงเรียนเดิม ส่วนครูที่มุ่งมั่นกับการสอนนักเรียน กลับไม่ได้อะไรตอบแทน ระบบไม่ยุติธรรม จึงคิดเปลี่ยนนำเรื่องวิทยฐานะ มาเชื่อมโยงกับการพัฒนาตนเองของครูแบบครบวงจร โดยมี “สถาบันคุรุพัฒนา” สังกัดสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เป็นผู้ให้การอบรม ผ่านรูปแบบ “คูปอง” เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาตัวเอง ใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายของ ศธ. มูลค่า2,000ล้านบาท
คืนเป็นของขวัญให้ครู ประเดิมปี 2560 ตั้งเป้าหมายกับครู 4 แสนคน
“คูปองครูหัวละ 10,000” พลันที่นโยบายนี้เปรี้ยงปร้าง! ออกไปก็สร้างกระแส “ช้อปปิ้งหลักสูตร” กับครู 4 แสนคน ให้สิทธิเลือกที่จะพัฒนาตัวเองตามเกณฑ์วิทยฐานะ โดยที่ครูไม่ต้องทิ้งเด็ก ทิ้งห้องเรียน ไม่ต้องเขียนผลงานเล่มโต อบรมแล้วนำมาใช้ดูผลเชิงประจักษ์ครูชอบ!
แต่ด้วยความรีบร้อนก็มีปัญหาขลุกขลัก เพราะต้องเร่งให้ทันปีงบประมาณ ต้องให้จบในภายใน2เดือน งัดกลไกตลาดมาใช้ เอาเงินใส่มือครูเลือกช้อปหลักสูตรอบรมตามสบาย นั้นทำให้มีช่องโหว่ “คนขี้โกง” บริษัท ผู้จัดหลักสูตรอบรม ไม่มีคุณภาพ จัดโปรฯ ลดราคา ลดเวลาอบรม “เงินทอนคูปองครู” ปูดขึ้นมาเป็นร้อยบริษัท
ทำอย่างนี้รัฐเสียประโยชน์ ต้องจัดหนักเอากฎหมายเล่นงาน ขึ้นบัญชีดำ ทั้งบริษัท-ตัวบุคคล และสถาบันคุรุพัฒนา ถอนใบรับรอง
ช่วงเดือน ต.ค.2560 บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. ออกมาแถลงผลคูปองครูหัวละ 10,000 ภาพรวมพอใจระดับดีมาก มีครูในระบบคูปองถึง 314,307คน พร้อมจัดระเบียบใหม่ ปีงบประมาณ 2561 กระจายพื้นที่การจัดอบรมให้มากขึ้น โดยมอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้บริหารจัดการ ส่วนเรื่องเงินหมื่น ยังไว้ใจครูมีวินัย ให้ถือเงินเอง แล้วไปบริหารจัดการจ่ายค่าอบรม โดยใช้วิธียืมเงินจากเขตพื้นที่ฯ และนำใบเสร็จจากหน่วยที่จัดอบรมมาเป็นหลักฐานยืนยัน
…แต่เรื่องผลลัพธ์คุณภาพของเด็ก จากครูในระบบคูปอง นี้เป็นอย่างไรยังไม่มีคำตอบ
ครู 5 เดือนไม่ได้บรรจุ – คลื่นใต้น้ำอำนาจมาตรา 53
พลันที่ ครูนิราวัลย์ เชื้อบุญมี และครูวนาลี ทุนมาก อดีตครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จ.ตาก ร้องผ่านสื่อ ไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังการปฏิบัติหน้าที่สอนในโรงเรียนดังกล่าวเป็นเวลา 5เดือน โดยไม่ได้รับเงินเดือน และไม่ได้รับการบรรจุเป็น “ครูผู้ช่วย” ตามบัญชีที่สอบได้
เหตุที่มาคือ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) ตาก มีมติไม่อนุมัติการบรรจุแต่งตั้ง ตามที่ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต38 (สุโขทัย-ตาก) เสนอเรื่องขึ้นมา เพราะไม่เป็นตามกระบวนการฯ ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเป็นการเสนอเพิ่มเติมตำแหน่ง ภายหลังการประกาศสอบคัดเลือก อีกทั้งบัญชีของ “ครูทั้งคู่” หมดอายุแล้ว ทั้งนี้ ผลสรุปของ คณะกรรมการสืบข้อเท็จ พบว่า การบรรจุครูไม่ถูกต้องไม่เป็นตามกระบวนการ จริง! ตามมติของ กศจ.ตาก และส่งผลต่อ ผอ.สพม. ถูกตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง มีการทุจริตเรียกรับเงินหรือไม่ แม้จะแว่วมาว่า…ไม่มีนัยยะการทุจริต แต่ก็ทำให้ราชการเสียหาย มีโทษทางวินัยเหมือนกัน
ขณะที่สองครูผู้เสียสิทธิ์ยื่นฟ้องศาลปกครองพิษณุโลก และร้องทุกข์ต่อ ก.ค.ศ.ขอเป็น “ครู” ต่อไป
แต่จนถึงขณะนี้ทั้งคู่ได้รับการเยียวยาเบื้องต้นเป็นค่าตอบแทนสอน 5 เดือน 5 หมื่นบาท ส่วนจะได้สิทธิความเป็นครู หรือไม่นั้นยังไม่ปรากฎผล
กรณีของครูทั้งสอง คือหนึ่งผลสะท้อนของปัญหา “การปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาในส่วนภูมิภาค” ระหว่าง คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และ สำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) ที่มีช่องว่างการ “บูร ณาการงานระหว่างกัน”
ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560ในข้อที่13ที่กำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา53(3) และ(4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547เป็นของ ศธจ.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากเดิมเป็นอำนาจของ สพท.มาตรา53(3) เป็นอำนาจของ ผอ.โรงเรียน
ก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำลูกใหญ่ ซัดสะเทือน รมว.ศึกษาธิการ ต้องสั่งเร่งหา “จุดร่วม” ลดความขัดแย้งระหว่าง ศธจ.และ ผอ.สพท.
12 ธ.ค.2560 ที่โรงแรมตรัง เกิดข้อตกลงร่วมทั้ง 2ฝ่าย ศธจ.-สพท. เสนอแก้คำสั่ง คสช.19/2560 ตั้งกรรมการ2ชุดคานอำนาจกันและกัน ล่าสุด หมอธี ชงเรื่องขอแก้ไขคำสั่งดังกล่าว ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. พิจารณาแล้ว
และเมื่อมีคำสั่งฉบับแก้ไข ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา2ชุด คือ คณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษาและ คณะกรรมการการบริหารงานบุคคล ทั้ง 2ชุด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน, ศธจ. เป็นเลขานุการ และผอ.สพท. เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งจะมีการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เป็นกลาง จำนวนเท่า ผอ.สพท. มาเป็นกรรมการร่วม เพื่อให้มีการคานอำนาจเกิดขึ้น
ถ้อยคำหนึ่งจาก ผอ.อดุลย์ กรองทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)อำนาจเจริญ กล่าวชัดเจนว่า สพท.และศธจ.ไม่มีใครขัดแย้งกันส่วนตัว ปัญหาการขับเคลื่อนงานที่สะดุดเกิดขึ้นมาจากการโอนอำนาจตามมาตรา 53ในข้อที่ 13ของคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560ไปให้ กศจ. ส่งผลให้งานหลายอย่างล่าช้าสะดุดตามไปเสียเวลา เสียโอกาสในแง่การบริหารงาน และส่งผลกระทบต่อผู้เรียน …การขอใช้อำนาจไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นของเขตพื้นที่ฯ เท่านั้น หรือเป็นอำนาจของใคร จะเป็นใครก็ได้แต่ต้องทำเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเด็ก ต่อการศึกษา และเจตนาเพื่อให้งานทุกอย่างเดินหน้าคล่องตัว (สยามรัฐออนไลน์ 12 ธ.ค.2560)
ก็หวังใจว่าจะเป็นอย่างที่พูด
สะท้านสะเทือนแวดวงการศึกษา กับโครงการSafe Zone School (CCTV) 12เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสังกัด สพฐ.กว่า1000แห่ง จำนวน5000ตัว ด้วยงบประมาณ 577ล้านบาท พบความไม่โปร่งใส
งานนี้ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2558 นับจากกลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอรัปชั่น เข้าร้องเรียนต่อ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ที่คุมพื้นที่ชายแดนใต้ ขอให้ตรวจสอบพฤติการณ์ของกลุ่มนายทหาร ซึ่งอ้างเป็นคนสนิทของ พล.อ.สุรเชษฐ์ เข้าไปยุ่มย่ามกับคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างCCTVหวังผลล็อบบี้บริษัทที่เป็นพรรคพวกของตนให้ได้รับงาน จนพบความไม่โปร่งใส
เป็นการฉ้อฉลบนความปลอดภัยในชีวิตของนักเรียน ครู บุคลากรที่แขวนบนเส้นด้าย
คดีนี้มีการตั้งกรรมการสอบสวน ซึ่งผลสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขต 9พบข้อมูลส่อทุจริตตั้งแต่ TOR ล็อกสเปก ราคาสูงเกินจริง อุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน กล้อง CCTV ติดไม่เสร็จ และใช้งานไม่ได้
แต่ดูท่าจะกลายเป็น“คดีแพะ” โดยเฉพาะครู ที่เป็นคณะกรรมการตรวจรับ ซึ่งมีถึง 2,000 กว่าคน
เดือนเดือด ก.ค.2560 ดร.กมล รอดคล้าย ขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา และเป็นอดีต เลขาธิการ กพฐ.ในขณะที่โครงการนี้เกิดขึ้น ตกเป็นเป้ารับกระดูกแขวนคอ แต่ไม่ยอมตายเดี่ยว แฉออกสื่อ ถึง 4 กลุ่มที่เอี่ยวโกง
“เรื่องนี้ผมในฐานะที่เป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) สมัยนั้น ต้องออกมาปกป้องครู ที่เป็นกรรมการตรวจรับการจัดซื้อจัดจ้างด้วย เพราะพวกเขาก็คือลูกน้องของผม ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องนี้มีอยู่ 4กลุ่มที่เข้าไปเกี่ยวข้อง คือ กลุ่มการเมือง กลุ่มความมั่นคง ซึ่งก็คือทหาร กลุ่มพ่อค้า และกลุ่มข้าราชการส่วนหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาตรวจสอบหาความจริง จึงจะยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่สรุปกันเองใครวิ่งเร็วก็จบ”
แต่ผลสะท้อนกับเข้าตัว ดร.กมล ถูกย้ายไปสำนักนายกฯ ปิดปาก!!
การสืบสวน-สอบสวน ยังดำเนินต่อโดยคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ที่มีนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นประธาน เดินหน้าสอบวินัยผู้ที่เกี่ยวข้อง กระทั่งวันที่ 30พ.ย.2560 ศธ.มีคำสั่งด่วน! ย้าย ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ4อำเภอในจังหวัดสงขลา เพื่อเปิดทางให้การสอบสวนโปร่งใสและยุติธรรมที่สุด
ถ้อยคำหนึ่งของ นพ.ธีระเกียรติ ที่แสดงท่าทีต่อกรณีส่อทุจริต CCTV โรงเรียนใต้ ยังก้องอยู่ในหู
“เรื่องนี้สาวถึงใครคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ เมื่อมีการทุจริตขั้นมา…เราไม่ยอมและยืนยันว่างานนี้ไม่มีมวยล้มต้มคนดูแน่นอน”
ก็กลัวแต่ว่า…คนโกงตัวจริงจะลอยนวล
นี่คือ 3 ประเด็นร้อนที่ต้องติดตามระยะประชิดในปีหน้า
รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่นการปฏิรูปการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สั่งล็อก 40 คนต่อห้องทั้งประถม-มัธยมไม่เปิดโอกาสขอขยายห้องเรียนเพิ่ม ชูเป้าหมายเด็กทุกคนมีที่เรียน กลุ่มโรงเรียนดัง จัดสอบ70%+คะแนนโอเน็ต30% ประกาศผลสอบทั้งตัวจริง-สำรองพร้อมคะแนนอย่างโปร่งใส ส่วนการรับเด็กเงื่อนไขพิเศษ กำหนดชัดว่ามีอุปการคุณอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพิ่งมาบริจาคแล้วได้รับสิทธิ์ตามเงื่อนไข นอกจากนี้ช่วงการรับนักเรียนจะตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และศูนย์บริการ one stop service เพื่อให้บริการให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ปกครอง
การดำเนินงานของ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่รวมเอา 25 อรหันต์ มาจัดทัพการศึกษาไทย โดยมี “นพ.จรัส สุวรรณเวลา” เป็นประธานทำหน้าที่ศึกษา-ให้ข้อเสนอแนะ แก่รัฐบาลในการจัดการศึกษา โดยคณะนี้มีอายุงาน2ปี นี่ก็ทำงานมาได้ครึ่งปีแล้ว หลายเรื่องเริ่มเห็นภาพชัดอย่าง “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” คาดว่าจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเร็วๆ นี้ เป็นกองทุนสำคัญที่ไม่ได้พุ่งเป้าไปเฉพาะที่เด็กยากจน แต่เป็นกองทุนที่จะทำให้เด็กและเยาวชน ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม และการมีขึ้นของกระทรวงการอุดมศึกษา ที่ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.อุดมศึกษา กำลังถูกเคี่ยวให้งวดมากขึ้น และยิ่งได้คนรู้งานอย่าง ศ.คลีนิก นพ.อุดม มาดูแลเอง ก็มีลุ้น!! ว่าจะสำเร็จก่อนรัฐบาลชุดนี้เซย์กู๊ดบาย
ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ด้วยของขวัญ จาก ศธ. มอบแก่นักเรียน ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ด้วยโครงการ Hi-Speed Internet ทุกโรงเรียน เพื่อให้เด็กเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ รวดเร็ว ฉับไวทันสถานการณ์ต่างๆ …โปรเจ๊กต์แน่นอนแล้วว่า ศธ.จะจัดสรรเงินให้ ผอ.สถานศึกษา เลือกใช้บริการอินเตอร์เน็ต จากเครือข่ายที่ดีที่สุด รวมถึงโปรเจ๊กต์ในฝัน ปรับปรุงโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ให้เป็นโรงเรียนประจำ ทั้งประถม-มัธยม อย่างละ1โรงเรียนในทุกอำเภอ
โดย ศธ.ส่วนหน้า มอบของขวัญชิ้นโต เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีฐานะยากจน รายได้ครอบครัวไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ได้กินนอนอยู่โรงเรียน ลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทาง และได้รับอาหารที่ครบตามหลักโภชนาการ
และทั้งหมดนี้ ปีการศึกษา 2561 ได้เห็น…ได้ใช้กันแน่นอน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ