“หมอธี”ให้ทบทวนข้อดี-เสียทุนโอดอส..สานต่อรุ่น 5 ยังไม่แน่นอน
วันที่ 18 ธ.ค.60 นายนายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ( กช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือทุนโอดอส ที่มีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ว่าที่ประชุมรับทราบข้อมูลจำนวนนักเรียนทุน ที่จบการศึกษา และอยู่ระหว่างการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศรุ่นที่ 3 (ปี 2555-2562) และ รุ่นที่ 4 (ปี 2556-2563) สำเร็จการศึกษาแล้ว 230 คน แบ่งเป็นรุ่น 3 จำนวน 225 และ รุ่น 4 จำนวน 5 คน โดยมีนักเรียนที่อยู่ระหว่างการรับทุน รวม 1,006 คน แบ่งเป็นในประเทศ 448 คน ต่างประเทศ 558 คน
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังเสนอให้พิจารณากรณีนักเรียนทุน 1 คนจบการศึกษาแล้ว จะขออยู่ในประเทศที่ศึกษาต่อไม่กลับมาทำงานในประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามสัญญาการรับทุน โดยขอให้ยึดตามสัญญาเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีการรายงานข้อมูลจำนวนผู้รับทุนที่จบการศึกษาแล้ว 3,093 คน พบว่าส่วนใหญ่ประกอบอาชีพภาคเอกชน 57% ส่วนที่เหลือรับราชการ และประกอบอาชีพส่วนตัว
“ที่ประชุมยังไม่ได้ฟันธงว่า จะเดินหน้าโครงการในรุ่นที่ 5 หรือไม่ โดย นพ.ธีระเกียรติ หารือที่ประชุมว่าจะกำหนดแนวทางการให้ทุนอย่างไร มอบหมายให้คณะกรรมการโครงการฯ ไปพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ของการให้ทุนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งภาพรวมทุนนี้เป็นการสร้างโอกาสคน ทุกคนเห็นด้วยกับการให้โอกาสทางการศึกษา แต่ขอให้พิจารณาว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ลักษณะนี้จะเป็นการสร้างโอกาสที่แท้จริงหรือไม่ โดยขอให้คณะกรรมการฯ ไปหาข้อสรุป แล้วให้นำกลับมาเสนอให้ทุนประชุมพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวในการคัดเลือกผู้รับทุนมีปัญหามาตลอด เช่น การคัดเลือกเด็กยากจนแต่เรียนดีในพื้นอำเภอต่างๆ แต่เมื่อไม่มีเด็กในพื้นที่เข้ารับทุน ก็มีการปรับหลักเกณฑ์ทำให้คนมีฐานะและไม่ได้ด้อยโอกาสจริง ๆ ได้ทุนเรียน ดังนั้น จึงต้องกลับมาทบทวนว่า การให้ทุนที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงควรมีแนวทางอย่างไร ที่สำคัญต้องมีกระบวนการในการเตรียมความพร้อมเด็ก ไม่ใช่ให้เด็กในพื้นที่ไปเรียนต่างประเทศทันที ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศที่ไปศึกษาได้ สุดท้ายเรียนไม่จบก็ต้องกลับมา ฉะนัั้นต้องดูว่าแนวทางใดที่จะสามารถดำเนินโครงการที่เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง” โฆษก ศธ.กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ