สอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ วันแรกราบรื่น พบสมัครซ้ำ 44 รายใน 38 จังหวัด เลขาฯ สพฐ.พอใจไม่มีทุจริต ส่งคณะกรรมการติดตามทั้งทางลับ และลงพื้นที่จริง
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.60 ที่โรงเรียนสันติราษฎรฺ์วิทยาลัย กรุงเทพฯ นายบุญรักษ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมด้วย นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการ กพฐ. ดร.วีระพงศ์ เดชบุญ และผู้บริหาร สพฐ. เดินทางตรวจเยี่ยมการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2560 จัดสอบระหว่างวันที่ 16-17 ธ.ค.60
นายบุญรักษ์ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมว่าภาพรวมการดำเนินการการจัดสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นฯ เป็นไปอย่างเรียบร้อย ซึ่งการจัดสอบดำเนินการโดยคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด 77 จังหวัด และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ของ สพฐ. เปิดสอบใน 56 สาขาวิชาเอก อัตราว่าง 4,680 อัตรา การสอบครั้งนี้มีผู้สมัครทั้งสิ้น 19,201 คน ซึ่งเขตตรวจราชการที่ 14 สนามสอบจังหวัดนครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีผู้สมัครสอบมากที่สุด 2,949 คน
โดยวันที่ 16 ธ.ค. เป็นการสอบภาค ก ความรอบรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู และภาค ข ความรู้ ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง ส่วนในวันที่ 17 ธ.ค. สอบภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ ซึ่งจะใช้วิธีการประเมินโดยการสอบสัมภาษณ์ และประกาศผลการคัดเลือกวันที่ 22 ธ.ค.เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีสนามสอบ 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย และโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ สำหรับสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยในสาขาที่เกี่ยวกับการศึกษาพิเศษ
“ในการจัดสอบครั้งนี้ มีเพียงประเด็นเดียวที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือกรณีผู้สมัครสอบยื่นสมัครซ้ำมากกว่า 1 จังหวัดถึง 44 คน ใน 38 จังหวัด โดยหลังจากการเข้าสอบช่วงเช้าผ่านไป 30 นาที ก็จะสามารถรู้ข้อมูลที่แท้จริงได้ว่าผู้ที่สมัครสอบซ้ำ เข้าสอบที่สนามสอบใดกันแน่ ทั้งนี้ กรณีสมัครสอบมากกว่า 1 แห่ง สามารถทำได้ เพราะในประกาศไม่ได้ห้ามไว้ และผู้สมัครก็สามารถเลือกสนามสอบในวันสอบจริง ต่างจากการสอบครูผู้ช่วยทั่วไป จะมีการกำหนดชัดเจนว่าให้เลือกสมัครได้เพียงแห่งเดียว หากพบสมัครซ้ำก็จะตัดสิทธิ์ทันที”
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า สำหรับสาขาวิชาที่มีอัตราว่างมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ ภาษาไทย ปฐมวัย คณิตศาสต์ ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา ที่ผ่านมาการจัดสอบก็พบว่า บางสาขาที่เปิดสอบกลับไม่มีผู้สมัครสอบเลย เช่น สาขาอุตสาหกรรมไฟฟ้า ของ กศจ.กรุงเทพ ที่เปิดสอบครั้งนี้ก็ไม่มีผู้สมัคร หรือบางสาขาสมัครแต่ก็มีผู้สอบไม่ผ่านจำนวนมาก ดังนั้น ก็ต้องรอผลการสอบครั้งนี้ด้วย ถ้าไม่มีสอบผ่าน และเกิดผลกระทบกับโรงเรียนขาดครู โดยเฉพาะโรงเรียนเล็กในพื้นที่ห่างไกล ก็ต้องทบทวนแนวทางดำเนินการต่อไป
นายบุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่มีข้อห่วงใยการทุจริตนั้น ได้กำชับทุกสนามสอบเข้มงวดการทุจริตตั้งแต่ก่อนสอบ ระหว่างสอบ และหลังสอบ โดยผู้เข้าสอบต้องถอดนาฬิกา เข็มขัด ไม่อนุญาตให้นำเครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดเข้าไปยังห้องสอบ สิ่งที่นำติดตัวไปได้มีเพียงบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ บัตรประชาชน และดินสอนปากกาเท่านั้น และผู้เข้าสอบจะต้องผ่านเครื่องแสกนร่างกายที่มีเจ้าหน้าที่ชายหญิงมาคอยดูแลด้วย
แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานเรื่องทุจริต หรือความไม่ชอบมาพากล แต่ สพฐ.ก็ไม่นิ่งนอนใจมีการตั้งคณะกรรมการติดตามทางลับ และคณะกรรมการที่ สพฐ. ร่วมกับผู้ตรวจราชการ ศธ. ลงพื้นที่ติดตามการสอบในจังหวัดต่างๆ อย่างใกล้ชิด
ด้าน ดร.วีระพงศ์ กล่าวว่า ในครั้ง กศจ.กรุงเทพฯ เปิดสอบใน 31 สาขา ตำแหน่งว่าง 252 อัตรา แต่เนื่องจากวิชาอุตสาหกรรมศิลป์ (ช่างไฟฟ้า) ไม่มีผู้สมัครสอบ ทำให้เหลือการสอบแค่ 30 สาขาวิชา โดยมีผู้สมัครสอบ 621 ราย และมีผู้สมัครซ้ำ 3 ราย ซึ่งการจัดสอบเป็นไปอย่างเรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม ข้อสอบที่ใช้จัดสอบมอบหมายให้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดำเนินการ มีการเน้นย้ำมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการทุจริต ตามแนวทางที่ สพฐ.มอบไว้ โดยที่สนามสอบของกรุงเทพฯ นั้นอนุญาตให้นำเพียงบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ บัตรประชาชนติดตัวไปได้เพียงเท่านั้น ส่วนอุปกรณ์ดินสอ ปากกาทางสนามสอบได้เตรียมไว้ให้บริการ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ