“บุญรักษ์”ชี้ต้องแยกงบค่าไฟ-ค่าเน็ต/งบพัฒนาคุณภาพนักเรียน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ที่ปัจจุบันเป็นระบบได้เท่ากันทั้งหมด ตามจำนวนนักเรียน ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนน้อยพัฒนาได้ยาก ซึ่งถ้าจะยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก ก็ต้องขอเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนใหม่ ว่าเรื่องนี้ต้องดูทั้งระบบไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กเท่านั้น แต่ต้องดูโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)ด้วย เพราะการให้เงินอุดหนุนตามตัวเด็กปัจจุบัน ใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ เดือนสองเดือนก็หมดแล้ว ซึ่งต้นทุนการพัฒนาเด็กเราต้องไม่คิดเฉพาะเงินอุดหนุนอย่างเดียว แต่ต้องคิดส่วนอื่นด้วย ประเทศไทยชอบตัดเสื้อไซส์เดียวใช้กันทุกคน ขอเวลาตนสักพักให้แก้ปัญหาเรื่องอินเตอร์เน็ตในโรงเรียนก่อน แล้วค่อยมาแก้ปัญหาเรื่องอื่น ๆ ทีหลัง
ด้าน ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้ลงไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ พบว่าที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ยังมีโรงเรียนกระจายอยู่ตามหย่อมบ้าน หรือโรงเรียนสาขาที่อยู่ตามหุบเขาไม่สามารถออกไปไหนได้ ครูจะต้องเดินไปทางเข้าไปสอนเด็กเอง ซึ่งมีนักเรียนหมู่บ้านละ 10-20 คน ประมาณ 6-7 หมู่บ้าน ซึ่งถ้าโรงเรียนเหล่านี้รวมตัวกันก็จะเป็นโรงเรียนขนาดกลาง แต่ไม่ได้รับเงินท็อปอัพ เรื่องนี้ต้องนำมาทบทวน และนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เพราะยังมีโรงเรียนสาขาเหล่านี้อยู่พอสมควร
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องจะขอทบทวนการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ส่วนตัวที่คิดไว้ก็คือต้องแยกค่าสาธารณูปโภค เช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ออกจากค่าพัฒนาการศึกษา เพราะการพัฒนาการศึกษาจะต้องถึงตัวเด็กจริง ๆ ซึ่งจะขอทบทวนเงินอุดหนุนรายหัวเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนเท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 15,000 กว่าโรงเรียน ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ก็ให้จัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม กพฐ.ด้วย ก่อนที่จะเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ