ชงทบทวนเงินรายหัว รร.ขนาดเล็ก-ลดเหลื่อมล้ำพื้นที่กันดาร
จากการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) นอกสถานที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้นำผู้บริหาร สพฐ. และกรรมการ กพฐ.ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล และดูสภาพการจัดการศึกษาในพื้นที่ ที่มีความแตกต่างหลากหลายบริบทในพื้นที่ต่าง ๆ นั้น
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธาน กพฐ. กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ได้เห็นสภาพที่แท้จริงของการจัดการศึกษาในบริบทต่างๆ ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งมีหลายเรื่องที่น่าชื่นชม และควรได้รับการพัฒนาเพื่อขยายผลต่อไป ขณะเดียวกันก็มีหลายเรื่องที่เป็นปัญหาต้องแก้ไข ซึ่ง กพฐ.จะได้มีการหารือทำข้อเสนอแนะต่อ สพฐ.เพื่อดำเนินการต่อไป
“การจัดการศึกษาในพื้นที่นี้หลายเรื่องเป็นสิ่งที่ดี เช่น การจัดการเรียนการสอนภาษาไทยได้ดีมาก เพราะได้รับรายงานจากผู้บริหาร สพฐ.สายต่าง ๆ ว่าโรงเรียนสามารถแก้ปัญหาการอ่านเขียนของเด็กได้ และเรื่องการจัดที่พักนอนให้แก่นักเรียน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ทำให้ครูสามารถดูแลนักเรียนใกล้ชิด เด็กไม่ต้องเดินทางไกล ได้มีเพื่อน ฝึกทำกิจวัตรประจำจำวัน ฝึกความรับผิดชอบต่อตนเองและสามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยผมได้หารือกับ เลขาธิการ กพฐ. แล้วว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นคำตอบในการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้ ซึ่งทราบว่า พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ได้นำรูปแบบการพักนอนของพื้นที่นี้ไปจัดในโรงเรียนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แล้วเช่นกัน”
นายปิยะบุตร กล่าวและว่า สำหรับเรื่องขาดแคลนครู โดยเฉพาะครูสอนภาษาอังกฤษนั้น ทราบว่า สพฐ. กำลังแก้ไข ซึ่งตนคิดว่าวิธีการที่น่าจะได้ผลคือต้องอาศัยสื่อดิจิทัล และการพัฒนาครูด้วยกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ซึ่งเป็นวิธีการพัฒนาครูที่ดีมาก แต่ปัญหาคือมีครูอีกมากที่ยังไม่เข้าใจเรื่อง PLC ดังนั้น สพฐ.ต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ครู
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า กรรมการ กพฐ.ได้เห็นและรับทราบสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการพักนอน ทางผู้บริหาร สพฐ.เห็นตรงกันกับ กพฐ.ว่าควรต้องมีการดำเนินการให้ทั่วถึงทั้งประเทศ เพราะเชื่อว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย สพฐ.จะนำเรื่องนี้เสนอต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อวางแมปปิ้งโรงเรียนจัดระเบียบที่พักนอน รวมถึงการดูแลสวัสดิการ และสวัสดิภาพ หรือค่าตอบแทนสำหรับครู ที่ดูแลเด็กพักนอนด้วย
“นอกจากนี้ กพฐ.ยังมอบให้ สพฐ.เร่งผลักดันให้มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้จากภายนอกเข้าถึงเด็กอย่างทัดเทียมกัน ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ก็มีนโยบายเรื่องนี้อยู่แล้ว และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ที่ปัจจุบันเป็นระบบได้เท่ากันทั้งหมด ตามจำนวนนักเรียน ส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยพัฒนาได้ยาก สพฐ.จะเสนอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าหากจะยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก ก็จำเป็นต้องศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายรายหัวที่แท้จริงด้วย” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ