สพฐ.-กพฐ.ยกทีมสำรวจคุณภาพนักเรียน/ปักธง!รร.ขนาดเล็ก
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ที่จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า การประชุมนอกสถานที่ครั้งนี้มีเป้าหมาย คือ การนำคณะกรรมการ กพฐ.ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ เพราะจากข้อมูลที่แท้จริงระบบการศึกษาของไทยไม่ถือว่าแย่กลับจะดีด้วยซ้ำ ผลจากการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ที่พบว่าโรงเรียนของไทยห่างจากสิงคโปร์ประมาณ 4-5 ปี แต่เมื่อวิเคราะห์โรงเรียนที่ส่วนบนของประเทศ เช่น โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ก็มีค่า PISA พอๆ กับโรงเรียนของสิงคโปร์ ขณะที่บางวิชาของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มีคะแนนสูงกว่าเสียอีก ทั้งนี้ ถ้าเปรียบเทียบในประเทศไทยเอง คะแนนของโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง โรงเรียนประจำจังหวัด โรงเรียนประจำอำเภอจะสูงกว่าโรงเรียนที่อยู่ระดับล่าง 6-7 ปี ดังนั้นถ้าเรายกระดับคุณภาพศึกษาโรงเรียนระดับล่างขึ้นมาให้ใกล้กับระดับบนได้ จะถือว่าเราประสบความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ แต่ทั้งนี้ต้องหาวิธี หรือรูปแบบ หรือการออกแบบนโยบายบางเรื่อง โดยเฉพาะการจัดสรรงบฯ บุคลากรที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรม
“ผมต้องการให้คณะกรรมการ กพฐ.เห็นว่าในประเทศไทยมีบริบทที่แตกต่าง หลากหลาย เมื่อเห็นปัญหาตรงนี้แล้ว กพฐ.จะเข้าใจว่าควรจะออกแบบนโยบายที่จะช่วยทำให้เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาและโอกาสด้านคุณภาพได้อย่างไร”
ดร.บุญรักษ์ กล่าวและว่า สพฐ.ได้แบ่งสายผู้บริหารออกเป็น 5 สาย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนใน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของพื้นที่ ความหลากหลายของชาติพันธุ์ และยังมีปัญหาความยากจนสูงด้วย ถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่จัดการศึกษาค่อนข้างยาก ดังนั้น แต่ละสายจะไปดูโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกัน เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้าโรงเรียนที่ใช้ดีแอลทีวี โรงเรียนที่มีความสมบูรณ์พัฒนาแล้วอย่างดีเหมือนกับโรงเรียนในเมือง เพื่อนำข้อมูลมาสรุปและวางแผนการจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสและการศึกษาที่มีคุณภาพด้วยความเสมอภาคต่อไป หลังจากได้“แม่ฮ่องสอนโมเดล”แล้ว จะมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการพักนอนของนักเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการโดยด่วน เพื่อที่เด็กจะได้ไม่ต้องเดินทางไกล มีเวลาทบทวนบทเรียน จะทำให้คุณภาพชีวิตและผลการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า การลงพื้นที่ทำให้ กรรมการ กพฐ.ได้รับข้อมูลและมองเห็นปัญหาการจัดการศึกษาของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวิเคราะห์และวางแผนเพื่อให้ข้อเสนอแนะการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาการจัดการศึกษาของประเทศไทยมีค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงต้องมีการจัดลำดับประเด็นปัญหาเพื่อดำเนินการแก้ไข ซึ่ง กพฐ.เห็นว่าปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเข้าไปดูแลอันดับแรก คือปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ