จบสถาปัตย์…แต่มารุ่งเครื่องหนังแฮนด์เมด ศิษย์รังสิต คิดท้าทายชีวิต
“…สถาปัตย์รังสิตไม่ได้สอนให้เราออกแบบอาคารหรือบ้านได้เท่านั้น แต่สอนให้เรารู้จักพลิกวิกฤตให้เป็น โอกาส ต่อยอดงานดีไซน์เพื่อสร้างตัวตนในแบบที่เราอยากเป็น”
นี่คือสิ่งที่ “วุฒิศักดิ์ เทิดบารมี-วิตรวีร์ โสรจชนะ” ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้กับงานหนังแฮนด์เมดแบบเท่ๆ จนสร้างแบรนด์ Vitme เป็นของตัวเองได้
แต่กว่าจะเติบโตจนมีแบรนด์ของตัวเองได้ ไม่ง่ายเหมือนอย่างคิด
ทั้งสองคน เล่าว่า หลังเรียนจบสถาปัตย์ก็ได้งานประจำด้านออกแบบ งานอินทีเรียทำอยู่ประมาณ 3 ปี ระหว่างที่ทำงานก็รู้สึกว่าไลฟสไตล์ของตัวเองไม่เหมาะกับงานประจำนัก อยากหาสิ่งใหม่ๆ ทำ สิ่งที่รู้สึกชอบทำแล้วมีความสุข โดยอาศัยความชอบส่วนตัวในเครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์สิ่งของสไตล์หนังแบบเรียบๆ เลยคิดว่างานเครื่องหนังแบบนี้ ก็น่าจะทำได้ จึงปรึกษาและตัดสินใจร่วมทุน เริ่มซื้ออุปกรณ์มาลองหัดทำ ลองแกะแบบจากของแบรนด์ต่างๆ ที่เราชอบ หาแหล่งเรียนรู้เพื่อศึกษาวิธีการทำอย่างจริงจัง
จากแรกๆ ที่ทดลองทำไว้ใช้เอง…จำพวกที่ใส่นามนามบัตร ขึ้นแพทเทิร์นเอง ตัดเย็บเองด้วยมือ ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ กว่าจะเข้าที่เข้าทาง รู้สึกสนุกและคิดว่าถ้าทำขายก็น่าจะดี เพราะเป็นงานเครื่องหนังแฮนด์เมดแบบญี่ปุ่น ที่ยังไม่ค่อยมีคนทำขายเท่าไร เป็นช่องทางเป็นโอกาสที่ดี จากนั้นก็หัดทำชิ้นงานอื่นๆ อาทิ กระเป๋าสตางค์ กำไลข้อมือ สายนาฬิกา พวงกุญแจ ถาดหนัง แอคเซสเซอร์รี่ต่างๆ ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น กระทั่งกล้าพอที่สร้างแบรนด์ของตัวเอง “Vitme” ที่ใช้ชื่อจริงของ “วิตรวีร์” รวมกับ “me” ที่แปลว่าฉัน และพ้องเสียงคล้าย “With me”
วุฒิศักดิ์ เล่าต่อไปว่า พอลาออกจากงานประจำ ก็ย้ายมาทำงานกับพี่ชาย ซึ่งมีธุรกิจออกแบบเล็กๆ โดยเปิดสตูดิโอเป็นพื้นที่ทำงาน ..ทุกชิ้นงานที่ทำออกมา ก็จะถ่ายภาพและอัพลงไอจี เฟซบุ๊ก เพื่อโปรโมท ทำให้มีลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ แล้วก็บอกกันปากต่อปาก ทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ออเดอร์เริ่มมากขึ้น
“ลูกค้ามีทั้งคนไทยและต่างชาติที่หลงใหลงานเครื่องหนังและมีกำลังซื้อ ส่วนมากจะเป็นกลุ่มดีไซน์เนอร์ นักศึกษา คนวัยทำงาน คนทำธุรกิจ และยังเป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย อเมริกา และยุโรป เป็นต้น โดยสินค้าที่เป็นที่นิยมจะเป็นงาน Custom-made ที่ลูกค้าสั่งทำ เช่น กระเป๋าเงิน กระเป๋าบัตร เข็มขัด กำไลข้อมือ และสายนาฬิกา งานของเราขายเน้นงานไอเดียเป็นหลัก”
จากเด็กถาปัตย์กลายเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ไฟแรง แต่วุฒิศักดิ์ บอกว่า วิชาชีพที่เรียนมาไม่ได้หายไปไหน ยังคงติดตัวอยู่ตลอด เขายังคงเป็นสถาปนิกที่สามารถออกแบบได้เหมือนคนอื่นๆ เพียงแต่เลือกทำอาชีพหลักที่ชอบเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง ชิ้นงานที่เขออกแบบมันคืองานดีไซน์ ซึ่งนำวิชาความรู้ในวิชาต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาประยุกต์และปรับใช้ มันอาจไม่ได้ออกมาในรูปแบบของอาคาร บ้าน ตึกสูง แต่เป็นงานเครื่องหนัง ที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ ต้องการไอเดีย ความละเอียดเช่นกัน
เช่นเดียวกับ “วิตรวีร์” สะท้อนว่า วิชาสถาปัตย์สอนให้อดทน ฝึกให้คิดนอกกรอบ คิดต่างเพื่อไปหาเป้าหมาย และความสำเร็จในชีวิต
“ดีใจที่ได้เรียนสถาปัตย์ เพราะมันคือความใฝ่ฝัน ระหว่างที่เราเรียน เรามีโอกาสได้รับงานออกแบบ หารายได้ พอจบเราก็ได้ทำงานออกแบบเหมือนสถาปนิกทั่วไป นั่นคือความฝันขั้นหนึ่งของเรา วันนี้ความฝันเราใหญ่ขึ้น เราอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ และเป็นธุรกิจที่เราอยากเป็นเจ้าของที่เกิดจากความสุขของเราเอง เครื่องหนังแฮนด์เมด ที่เราทำเป็นความท้าทาย และอยากขอบคุณสิ่งที่สถาปัตย์ สอนเพราะไม่ได้สอนเราแค่สร้างบ้าน แต่สอนให้เรามีความฝัน สอนให้เราหาโอกาสอยู่ตลอด สอนให้แอ๊คทีฟ (Active) กับการสร้างงานใหม่ๆ จึงทำให้เรามาถึงจุดนี้ได้”
กว่า 3 ปีแล้ว “วุฒิศักดิ์”และ”วิตรวีร์” รวมกันสร้างงานเครื่องหนังแฮนด์เมด และยังสานต่อความฝันอย่างต่อเนื่อง
ดูเหมือนว่าอาชีพเลี้ยงตัวในทุกวันนี้ ไม่สำคัญว่าจะเรียนจบอะไร ทำงานตรงสาขาหรือไม่ แต่อยู่ที่พื้นฐานองค์ความรู้ที่ติดตัวมามากกว่า ที่จะสร้างงานสร้างอาชีพแก่คนรุ่นใหม่อย่างยั่งยืน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ