มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เผย 4 นโยบายสู่การเป็นสถาบันการศึกษาตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามโรดแมปของรัฐบาล พร้อมนำร่องเปิดสอนปีการศึกษา 2561 ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ ที่ไทยยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ
มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการเปิดก้วางให้สถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เข้ามาดำเนินการจัดตั้งสถาบันในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 29/2560 หรือมาตรา 44 นั้น จะก่อให้เกิดผลดีในแง่การแข่งขันและพัฒนาหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อให้ทัดเทียมกับสถาบันจากต่างประเทศ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดได้มีการลงนามข้อตกลงทางวิชาการ ณ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลนั้น จะอยู่ภายใต้นโยบาย 4 ด้าน เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามโรดแมปของรัฐบาล โดยหลักๆ จะมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ทางนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
2.มุ่งสู่การเป็นสถาบันหลักด้านวิชาการของประเทศ และนานาชาติ โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้การพัฒนาประเทศ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3.มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อยุทธศาสตร์ชาติ และ 4.มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ ที่เน้นการเรียนรู้แบบ Problem-Based, Case-Based และ Search-Based เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนจากประเด็นปัญหาจริงด้วยตนเอง สามารถลงมือทำโครงการวิจัยและพัฒนาที่ได้รับโจทย์ภาครัฐและภาคเอกชนอย่างแท้จริง
“เป้าหมายหลักของการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล คือต้องการให้นักศึกษาได้ทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตอบโจทย์ความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างตรงจุด โดยนอกจากจะส่งนักศึกษาไปเรียนกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ยังสหรัฐอเมริกาแล้ว ผู้เรียนจะต้องกลับมาฝึกปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการภาคเอกชน ที่ลงนามเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้มีภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ ร่วมลงนามแล้วหลายกลุ่มธุรกิจ เท่ากับว่าระหว่างการเรียนทั้งในระดับปริญญาเอก และปริญญาโท นั้นจะได้ศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมการศึกษาไทยครั้งใหญ่”ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า ในปีการศึกษาแรก 2561 จะนำร่องเปิดสอน 2 สาขาวิชา คือ ระดับปริญญาโทและเอก สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ และปริญญาโท สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ หลักสูตรครอบคลุมเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ ระบบสารสนเทศและการให้บริการ, ดาต้าและการป้องกันภัยไซเบอร์, หุ่นยนต์สมองกลและการควบคุมจักรกลอัตโนมัติ, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น ด้วยมาตรฐานเดียวกับ”คาร์เนกีเมลลอน”ทุกประการ
ทั้งนี้ นักศึกษาปริญญาเอก จะใช้เวลาเรียน 5 ปี โดยเรียนในไทย 2 ปี และสหรัฐอเมริกา 3 ปี ส่วนระดับปริญญาโท จะเรียนในไทย 1 ปี และสหรัฐอเมริกาอีก 1 ปี
โดยขณะนี้ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กำลังเปิดรับสมัครทั้งสองระดับ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.cmkl.ac.th ปิดรับสมัครสิ้นเดือน ธ.ค.60
ส่วนการเปิดสอนอย่างเป็นทางการจะเริ่มในเดือน ส.ค.2561 เป็นต้นไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ