เครือข่ายวัฒนธรรมข้าว จับมือพันธมิตรฟื้นมรดกข้าวไทย จัดงานข้าวใหม่ ปลา(อันดา)มัน ระหว่างวันที่ 6-7 ธ.ค.2560 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต
ศ.ธีรยุทธ บุญมี ตัวแทนเครือข่ายวัฒนธรรมข้าว กล่าวถึงที่มาของการรื้อฟื้นวัฒนธรรมข้าวใหม่ ว่า นับตั้งแต่อดีต เมืองไทยนั้นเป็นเสมือน “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งคำว่าอู่ข้าวอู่น้ำนี้เป็นพื้นฐานของอารยธรรมไทยเรื่อยมา จากรัชกาลที่ 4-5 เป็นต้นมา “ข้าว” เป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าถึง 70-80% ของ GDP ประเทศติดต่อกันมาหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งต่างมีเรื่องราวตำนานที่น่าสนใจก็จะถูกรื้อฟื้นขึ้นมา เพื่อให้ข้าวไทยยังคงเป็นเสาหลักของสินค้าเกษตรของไทยต่อไป
ศ.ธีรยุทธ ยังกล่าวอีกว่า “คนไทยนั้น มีความเชื่อเรื่องความเป็นสิริมงคล เชื่อในเรื่องขวัญดี ขวัญเข้มแข็ง ในช่วงปีใหม่หรืองานมงคลเราจึงมอบ “ของขวัญ” อันมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าคำว่า gift ของฝรั่ง ซึ่งมีที่มาจากคำว่า “ให้” ความหมายของไทย คือ การเพิ่มพูนมิ่งขวัญ ความเป็นสิริมงคลแก่ผู้รับ เป็นพื้นฐานของชีวิตคนไทย เราจึงเชื่อว่า “ข้าวมีขวัญ” มีความเป็นสิริมงคลในตัวเอง เห็นได้ว่าชาวนาไทยทำขวัญข้าวฤดูกาลละหลายๆ รอบ เช่น ตอนเริ่มปลูก ตอนข้าวตั้งท้อง ออกรวง ฯลฯ ข้าวจึงมีความศักดิ์สิทธ์อยู่ในตัว หลังฤดูเก็บเกี่ยว ก่อนจะเฉลิมฉลองข้าวใหม่ซึ่งมีความหอมหวานอร่อยมากที่สุด เราต้องถวายข้าวใหม่ให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือพระสงฆ์ก่อน
…นับว่าเป็นการเริ่มเทศกาลข้าวใหม่ แล้วจึงกินข้าวใหม่ในครอบครัวหรือชุมชน และมักจะหาฤกษ์งามยามดีและให้ผู้อาวุโสรับประทานก่อน ชาวคริสเตียน ในยุโรป อเมริกา แคนาดา ก็เคยมีประเพณีหลังเก็บเกี่ยว ซึ่งแต่ละบ้านจะต้องนำ “ขนมปังใหม่” ไปถวายบาทหลวงในโบสถ์ประจำท้องถิ่นตน ในอดีตการจัดงานเทศกาลข้าวใหม่จัดไม่พร้อมกัน เช่น ชาวเขาบางเผ่าอาจจะมีงานฉลองตั้งแต่เดือนตุลาคม หรือในบางท้องถิ่นมักมีงานประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน เราจะเห็นได้ว่า ข้าวใหม่เหมาะที่จะให้เป็นของขวัญปีใหม่และงานเฉลิมฉลองต่างๆ นั่นเอง”
“เทศกาลข้าวใหม่ เปรียบเสมือน เทศกาลต้อนรับสิ่งใหม่ นำมาซึ่งความปีติ ความหวังใหม่ ความปรารถนาดีต่อกันของผู้คนในสังคม ในเชิงเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดจากเรื่องของรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวนาซึ่งอยู่ในส่วนการผลิต โดยเฉพาะเกษตรกรที่ผลิตระบบอินทรีย์ การรื้อฟื้นสายพันธุ์ข้าวดั้งเดิมที่มีความโดดเด่นเฉพาะ จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นโดยตรง ทั้งนี้ ผลจะปรากฏชัดมากขึ้นเมื่อเทศกาลนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ศ.ธีรยุทธ กล่าว
ด้าน อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการจัดงานข้าวใหม่ ปลา(อันดา)มัน ครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นหนึ่งในเครือข่ายที่ร่วมจัดงานเทศกาลข้าวใหม่ มีแนวคิดการจัดงานเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “ในหลวงรัชกาลที่ 9″ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา โดยเฉพาะทางด้านการเกษตรและพัฒนาชนบท หรือทรงเป็นกษัตริย์แห่งเกษตร” ที่แท้จริง
สำหรับเทศกาลข้าวใหม่ ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยรังสิตนั้น จัดขึ้นภายใต้ชื่องาน “ข้าวใหม่ ปลา(อันดา)มัน” ระหว่างวันที่ 6-7 ธ.ค.2560 ณ บริเวณด้านหน้าอาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ (อาคาร 1)
…ภายในงานข้าวใหม่ ปลา(อันดา)มัน จะมีกิจกรรมตักบาตรข้าวสารใหม่ พระสงฆ์ 89 รูป ถวายเป็นพระราชกุศล แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 …การจัดตลาดข้าวใหม่ โดยเป็นข้าวใหม่จากภาคต่างๆ ของประเทศไทย และจำหน่ายโดยชาวนา
พร้อมกันนี้เชิญชวนผู้เข้าร่วมงานได้ชิมข้าวใหม่ด้วยกัน และร่วมรณรงค์มอบของขวัญปีใหม่ด้วยข้าว และการบริโภคข้าวใหม่ในวันปีใหม่ เพื่อสร้างความเป็นมงคล และส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจในสินค้าเกษตร ซึ่งก็คือ ข้าวใหม่ จากข้าวสายพันธุ์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ