</p>
ทีมนักวิจัย ม.มหาสารคาม คิดค้น “สมาร์ท ดี ฟาร์เมอร์ แอพพลิเคชั่น” โปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม บริหารจัดการฟาร์มได้ง่ายขึ้น
ผศ.นายสัตวแพทย์ ดร.มนกานต์ อินทรกำแหง อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ มมส กล่าวถึงแอพพลิเคชั่นตัวนี้ สามารถใช้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยจะช่วยการบันทึกพันธุ์ประวัติโค ข้อมูลการผสมพันธุ์ การคลอด ตรวจการเป็นสัดและการผสมเทียม การกำหนดระยะเวลาพักการรีดนม (ดราย) บันทึกการเคลื่อนย้ายโค รวมถึงบันทึกการตรวจโรคและการรักษาโรค ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการแจ้งเตือนกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการในแต่ละวันของเกษตรกรฟาร์มผู้เลี้ยงโค
สำหรับ “สมาร์ท ดี ฟาร์เมอร์ แอพพลิเคชั่น” ทดลองใช้กับสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จ.มหาสารคาม เป็นครั้งแรก โดยสหกรณ์แห่งนี้ มีสมาชิกมากถึง 70 ราย ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือการลืมจดบันทึกข้อมูลโค หรือบางครั้งอาจจะบันทึกลงในกระดาษ-สมุด เสี่ยงต่อการโดนน้ำ และทำสมุดบันทึกสูญหาย ซึ่งยากต่อการติดตามผลและได้ข้อมูลที่แท้จริงของโคเหล่านั้น
ด้าน นายธารารัตน์ ร่มแก้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ เล่าว่า ปัญหาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมพบบ่อยก่อนที่จะมาทดลองใช้ระบบ “สมาร์ท ดี ฟาร์เมอร์ แอพพลิเคชั่น” นั้นคือการจัดเก็บข้อมูลไม่เป็นระบบ เพราะบันทึกข้อมูลโดยการเขียนใส่สมุด กระดาษ ทำให้ลืมเขียนบ้าง กระดาษหายบ้าง การบันทึกไม่สม่ำเสมอ บางทีถึงเวลาหมอผสมวัวแล้วตัวเองไม่อยู่ หรือไปถึงแล้ว วัวก็คลอดแล้ว ทำให้เสียโอกาส กระทบไปหลายๆ เรื่อง แต่หลังจากใช้ระบบแอพพลิเคชั่นนี้แล้ว ปัญหาเหล่านั้นก็หมดไป เมื่อคุ้นเคยการใช้ระบบที่สะดวก ทันสมัยเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
…แอพพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถใช้ได้กับโทรศัพท์มือถือทุกระบบ ซึ่งผู้มีสิทธิ์ใช้งานจะต้องมีฟาร์มเป็นของตนเอง หรือเป็นสมาชิกของสหกรณ์โคนม เมื่อเข้าสู่ระบบแอพพลิเคชั่น จะขึ้นโชว์หน้าจอให้ป้อนข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นชื่อสหกรณ์โคนม รหัสฟาร์ม ชื่อผู้ใช้งาน เลขประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ รหัสผ่าน จากนั้นจะเข้าสู่ระบบลงทะเบียน และสามารถใช้งานในแอพพลิเคชั่นได้
ส่วนการแจ้งเตือนของระบบ จะประมวลข้อมูลการแจ้งเตือน 2 วิธี คือ ข้อมูลการแจ้งเตือนที่เกษตรกรกำหนดไว้ในเมนูบันทึกเตือนความจำ และข้อมูลการแจ้งเตือนจากการประมวลผลการตรวจท้องแม่โค ซึ่งจะแจ้งเตือนกำหนดการดราย รวมถึงการแจ้งเตือนกำหนดการคลอด ความสามารถของแอพพลิเคชั่นนี้ สามารถทำการบันทึกตำแหน่งที่ตั้งของฟาร์มเป็นละติจูดและลองติจูด ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริม ได้ทราบตำแหน่งฟาร์ม เพื่อเดินทางมาปฏิบัติการในฟาร์มได้อย่างรวดเร็ว
“สมาร์ท ดี ฟาร์เมอร์ แอพพลิเคชั่น” ได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นข่าวดีของพี่น้องเกษตรกร ในการนำแอพพลิเคชั่นตัวนี้ ไปวิเคราะห์ประสิทธิภาพฟาร์มตนเองให้มีความทันสมัย ในยุคสมาร์ท ฟาร์เมอร์ 4.0
—————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ