สพฐ.ดึงโรงเรียนประถม-มัธยม คุณภาพสูงจาก 77 จังหวัด ร่วมวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดเด่น
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ตนจะเชิญโรงเรียนมัธยม และโรงเรียนประถมศึกษาประจำจังหวัดและโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ มาประชุมเพื่อให้โรงเรียนเหล่านี้วิเคราะห์กระบวนการจัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการ งานวิชาการ งานบุคคล และงบประมาณ เพื่อดึงจุดเด่นวิเคราะห์ตัวตนให้ชัดเจน
จากนั้นจะใช้โรงเรียนเหล่านี้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาของโรงเรียนในแต่ละจังหวัด โดยใช้หลักการ Benchmark (เบ็นช์มาร์ค) ให้โรงเรียนที่มีคุณภาพน้อยกว่า เปรียบเทียบจุดอ่อน จุดแข็ง และพัฒนาการเรียนการสอนของตนเอง ให้มีศักยภาพใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกับโรงเรียนเหล่านี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มุ่งหวังว่าถ้าสามารถผลักดันให้โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ ยกระดับคุณภาพเท่าเทียมกับโรงเรียนมัธยม และโรงเรียนประจำจังหวัด ในแต่ละจังหวัด คะแนนการทดสอนระดับประเทศ และระดับนานาชาติจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น
“สพฐ.จะเชิญโรงเรียนที่มีคุณภาพ และโรงเรียนประจำจังหวัดทั่วประเทศ มาวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง ให้รู้ข้อดีของตนเองเพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบ เพราะต่อไปจะมีโรงเรียนที่มีคุณภาพน้อยกว่าภายในจังหวัด มาเปรียบเทียบจุดอ่อน จุดแข็งและวิเคราะห์ การจัดการเรียนการสอน การบริหารงาน เพื่อพัฒนาตนเอง เป็นการดูแลคุณภาพการศึกษาในแต่ละจังหวัด เช่น บางโรงเรียนที่เด็กอ่อนวิชาชีววิทยา ซึ่งพอวิเคราะห์จุดอ่อนแล้ว พบว่ ในโรงเรียนไม่มีครูที่สอนวิชาชีววิทยาโดยตรง ก็จะต้องวิเคราะห์ว่า จะมีแนวทางใดบ้างในการแก้ปัญหา และโรงเรียนที่มีคุณภาพมากกว่าใช้แนวทางใด หรือบางแห่งมีวัฒนาธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ”
นายบุญรักษ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ สพฐ.จะดูแลให้การสนับสนุนโรงเรียนและครูเป็นสำคัญ ใน 2 แนวทางหลัก ๆ ซึ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสนับสนุนการจัดการองค์วามรู้และวิธีการทำงานของครู ซึ่งสิ่งที่ สพฐ.ดำเนินการไปแล้ว คือ การจัดอบรมครู ตามโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร ควบคู่กับการพัฒนาครูด้วยกระบวนการ PLC มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รองลงมา คือ การสนับสนุนด้านงบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอน
โดยในส่วนนี้มีนโยบายให้โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ดำเนินการในรูปแบบการของบฯ แลกเป้า โดยจะต้องวิเคราะห์ความต้องการของตัวเองก่อน เช่น โรงเรียนอยากมีความหลากหลาย ให้เด็กได้เรียนรู้กว้างขึ้น โรงเรียนก็ต้องวิเคราะห์ความต้องการของตัวเอง ซึ่งบางโรงเรียนต้องการอินเตอร์เน็ต เพราะสามารถทำให้เด็กได้เรียนรู้หลากหลายไม่จำเป็นต้องมีอย่างอื่น เป็นต้น
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ