นักศึกษาโขนพระราชทาน มทร.ธัญบุรี ร่วมแสดงโขน..มหรสพสมโภช รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 9
ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชบัญชาให้โขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เข้าร่วมแสดงโขน ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิ ณ เวทีการแสดงมหรสพสมโภชด้านทิศเหนือ ท้องสนามหลวง
โดย 4 นักศึกษาสาขาวิชานาฏศิลป์ไทย ภาควิชานาฏดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้รับคัดเลือกจากวิทยาลัยนาฏศิลปส่วนภูมิภาค ทั้งหมด 130 คน ให้ร่วมแสดงในครั้งนี้ ถือเป็นเกียรติในชีวิตนักศึกษาโขนพระราชทานรัชกาลที่ 9
นางสาวกัญญา ตู้พิจิตร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย ตัวละครนางฟ้า เล่าว่า การแสดงโขนในครั้งนี้ เป็นเกียรติต่อตนเองและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้ ที่มีโอกาสได้ถวายงานรัชกาลที่ 9 มีความภาคภูมิใจในชีวิต…พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจ ที่ทำให้ตนตั้งใจทำสิ่งต่างๆ ในการใช้ชีวิต ในฐานะของคนไทย จะตั้งใจรักษาวัฒนธรรมศิลปะแขนงนี้ให้คงอยู่สืบไป
นายธณวัติ คงนิล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย ตัวละครโขนยักษ์ (เสนายักษ์) เล่าว่า ตอนที่ได้รับคัดเลือกเล่นโขนพระราชทานรู้สึกเป็นเกียรติ และภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพราะเป็นการแสดงเพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 …โขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูง เป็นมรดกตกทอด พระองค์ทรงอนุรักษ์การแสดงโขน อยากให้คนไทยได้สืบสานวัฒนธรรมแขนงนี้ไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน
ผมเป็นคนหนึ่งที่มีความสามารถทางด้านนาฏศิลป์ไทย ผมสัญญาจะรักษาวัฒนธรรมแขนงนี้จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ
นายดลพงศ์ สุวรรณคีรี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย ตัวละครโขนลิง (เสนาลิง) เล่าว่า รู้สึกภาคภูมิใจในชีวิตได้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขน ได้ถวายงานพระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย พระองค์ท่านทรงเป็นมากกว่าพระมหากษัตริย์ พระองค์ท่านทรงงานอย่างหนัก …สำหรับตนเองจะเป็นต้นแบบอนุรักษ์การแสดงโขนให้กับคนรุ่นหลัง ในฐานะคนโขนในรัชกาลที่ 9
นางสาวพัชรพร บัวพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชานาฏศิลป์ไทย ตัวละครเทวดา เล่าว่า ในฐานะของนักศึกษานาฏศิลป์ เป็นเกียติประวัติในชีวิต ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขนครั้งนี้ พระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ในฐานะของนักศึกษาจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้องนาฏศิลป์ไทย และจะสืบสานอนุรักษ์ศาสตร์แขนงนี้สืบไป
—————–
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ