“หมอธี” ชี้รัฐและ สกอ.ทำได้แค่ให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจศึกษาต่อ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ว่า มีการเปิดสอนในหลักสูตรการศึกษาที่หลากหลายและเป็นสาขาทางโลกก็มีเพิ่มขึ้นนั้น ตนได้มอบหมายให้ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) ไปดูข้อมูลการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง
ซึ่ง ดร.สุภัทร ได้รายงานเบื้องต้นว่า ทั้งสองมหาวิทยาลัย มีการเปิดสอนหลักสูตรจำนวนมากจริง แต่ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ และการที่มีพระภิกษุ มาเรียนจำนวนมาก นั้นเป็นเพราะค่าเรียนถูกและมีวิทยาเขตนอกที่ตั้งกระจายอยู่หลายแห่งง่ายต่อการเข้ามาศึกษา มีหลักสูตรจำนวนมาก ทำให้คนที่ไม่มีโอกาสเรียนที่อื่นสามารถมาเรียนได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร และนายกรัฐมนตรีก็ทราบว่ารัฐไม่สามารถไปสั่งการใด ๆ ได้ เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หากสภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้เปิดสอนก็สามารถดำเนินการได้
“ไม่ใช่เรื่องที่รัฐหรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) จะไปสั่งการให้ลดหรือเพิ่มการสอนในหลักสูตรใดได้ ถือว่าผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจว่า ผลิตบัณฑิตออกมาเพื่อจุดประสงค์ใด ซึ่งหากพระเรียนจบออก มาไม่ต้องทำงานก็คงไม่เป็นอะไร แต่หากเป็นฆราวาสเรียนจบแล้วต้องมีงานทำ อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรไปโฟกัสแค่มหาวิทยาลัยสงฆ์ เพราะยังมีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งที่เปิดสอนในหลักสูตร ซึ่งบัณฑิตจบออกมาแล้วไม่มีงานทำ
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ทำได้ คือการให้ข้อมูลที่เพียงพอแก่ผู้เรียนว่า หลักสูตรไหนจบออกมาแล้วเป็นอย่างไร มีโอกาสได้งานทำมากน้อยแค่ไหน ซึ่งรัฐต้องหาทางผลักดัน และมีข้อมูลให้มากเพื่อเป็นจุดเปลี่ยนในการตัดสินใจเข้าเรียนได้”
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า ในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา จะมีคณะกรรมการกำกับการเงิน ซึ่งจะพิจารณาว่าจะให้เงินสนับสนุนการผลิตบัณฑิตในสาขาใด และไม่ให้เงินสนับสนุนสาขาใด ซึ่งเรื่องนี้ต่างประเทศก็ดำเนินการอยู่เช่นกัน เชื่อว่าเมื่อกฎหมายนี้ออกมามีผลบังคับใช้จะส่งผลให้ทุกมหาวิทยาลัยพิจารณาการเปิดสอนแต่ละหลักสูตรอย่างละเอียดมากขึ้น
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ