สอศ.ปรับสูตรช่างอากาศยานมาตรฐานสากล เรียนจบแล้วสอบ license ทำงานกับสายการบินทั่วโลก
นายวณิชย์ อ่วมศรี ประธานคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอำนวยการขับเคลื่อนฯ และคณะทำงาน 3 คณะ มาร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานดังกล่าว โดยมีตนเป็นประธานนั้น ขณะนี้ทั้ง 3 คณะ คือ 1.คณะทำงานด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน 2.คณะทำงานด้านครุภัณฑ์ และ 3.คณะทำงานด้านการพัฒนาครูช่างอากาศยาน
ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับปรุงหลักสูตร กำหนดครุภัณฑ์ ที่จำเป็น และกำหนดแนวทางการพัฒนาครูช่างอากาศยาน ให้เป็นไปตามข้อตกลง ข้อกำหนด และมาตรฐานของ ICAO Doc.7192 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) เสร็จเรียบร้อยแล้ว
นายวณิชย์ กล่าวต่อไปว่า หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นจะมีศักยภาพเมื่อเรียนจบแล้ว จะสามารถสอบใบอนุญาต (license) เพื่อทำงานกับสายการบินได้ทั่วโลก เพราะเพิ่มเติมสาขาวิชาด้านการบินอีก 3 สาขาวิชา และผู้เรียนต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษ และได้คะแนน TOEIC ไม่น้อยกว่า 350 คะแนน โดยการเรียนการสอนจะใช้รูปแบบทวิภาคี ระยะเวลา 2 ปี 1 ภาคฤดูร้อนในหนึ่งภาคเรียน รวมทั้งสิ้น 3,200 ชม. แบ่งเป็นทฤกษฎี 1,134 ชม. และปฏิบัติ 2,066 ชม. ซึ่งมากกว่าหลักสูตรระดับอนุปริญญา สาขาวิชานายช่างบำรุงรักษาอากาศยาน ของสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ที่มีชั่วโมงเรียน 2,676 ชม. เนื่องจากหลักสูตรของ สอศ.ได้สอดแทรกจำนวนชั่วโมงรายวิชาทักษะชีวิตเข้ามาผนวกด้วย รวมทั้งมีการวัดประเมินผล แต่ละวิชาต้องผ่านเกณฑ์ 70% และจัดข้อสอบกลางเพื่อประเมินผู้จบการศึกษา โดยหลักสูตรนี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/2560 เป็นต้นไป
สำหรับสถานศึกษาของ สอศ.ที่ได้รับการส่งเสริมให้จัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทช่างอุตสาหกรรม สาขาช่างอากาศยาน ตามมาตรฐานและข้อกำหนดของCAO Doc.7192 กพท. และ สคช. มี 6 แห่ง ดังนี้ วิทยาลัยเทคนิค (วท.) ถลาง, วท.ดอนเมือง, วท.สมุทรปราการ, วท.อุบลราชธานี, วท.สัตหีบ และวิทยาลัยการอาชีพ(วก.) ขอนแก่น
โดย วท.ถลาง เป็นวิทยาลัยแรกที่นำร่องเปิดสอน และมีนักศึกษาจบรุ่นแรกแล้ว 22 คน ซึ่งทุกคนได้งานทำ 100% และรับเงินเดือนแรกเริ่มเฉลี่ย 18,000-30,000 บาท
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ